There are no coincidences in the universe.

Solitary Animal: Chart Korbjitti

Saturday, April 16, 2005

Chart Korbjitti

6 Comments:

Blogger solitary animal said...

'คิดละเอียด' แบบ ชาติ กอบจิตติ

-อธิคม คุณาวุฒิ

ถ้าเราถอดใจตั้งแต่แรกเราก็จะไม่มีวันนี้ ผมถึงบอกว่าถ้าคุณทำอาชีพอิสระหรือทำงานศิลปะจริงจังทำให้ต่อเนื่อง รับรองภายใน 20 ปีคุณต้องอยู่ได้ แต่มีข้อแม้ช่วงแรกต้องอดทนและรู้จักเรียนรู้ อย่าทำผิดพลาดในเรื่องซ้ำๆ ...ซึ่งเรื่องแบบนั้นคนฉลาดเขาไม่ทำกัน


โครงการ 'ชาติพบแฟน' ที่ ชาติ กอบจิตติ ลงทุนลงแรงเดินสายพบปะนักอ่านตามร้านหนังสือเล็กๆ ทั่วประเทศ กว่า 30 จังหวัด ก่อนจะมีงานใหญ่อีกครั้งที่กรุงเทพฯในวันพรุ่งนี้ ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแสงอรุณ ถนนสาทร...เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับจิ๊กซอร์สำคัญ 2 ชิ้นในแวดวงการอ่านการเขียน ชิ้นหนึ่งคือ 'คนอ่าน' อีกชิ้นคือ 'ร้านหนังสือ'

คนอ่านนั้นไม่มีปัญหา...ชาติ กอบจิตติ เรียกคนอ่านของเขาเสมอว่า 'ผู้มีพระคุณ' การเดินสายพบปะผู้อ่านตามต่างจังหวัดพร้อมกับงานเล่มใหม่-'เปลญวนใต้ต้นนุ่น' ก็คือการรื้อธรรมเนียมเปิดตัวหนังสือที่มักทำกันเฉพาะในกรุงเทพฯ

แต่สำหรับร้านหนังสือเล็กๆ แล้ว ชาติถือว่าเขากำลังทำหน้าที่บอกข่าวแก่คนเล็กคนน้อย ตามสำนวนของเขาที่ว่า... "ไฟกำลังจะไหม้บ้านอยู่แล้ว" เพราะร้านหนังสือแฟรนไชส์ภายใต้สังกัดสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่เปิดเกมรุกหนักขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์อย่างนี้ไม่ต่างกับที่โชวห่วยเคยถูกซูเปอร์สโตร์เบียดตกเวที ซึ่งในทัศนะของชาติ ปรากฏการณ์อย่างนี้ไม่น่าจะถือว่าปกติ

จุดประกาย-เสาร์สวัสดี นัดพูดคุยกับชาติ กอบจิตติ ที่บ้านไร่ปากช่อง ในวันที่เขากำลังปิดท้ายโปรแกรมทัวร์ที่จังหวัดนครราชสีมา แรกทีเดียวเราตั้งใจคุยให้เสร็จตั้งแต่คืนแรกที่ไปถึง แต่สถานการณ์กลับไหลลื่นจนไม่กล้ากดปุ่มเทปบันทึกเสียง...เกรงจะทำลายบรรยากาศ

เช้าวันต่อมา ขณะที่ผู้มาเยือนเพิ่งงัวเงียจากที่นอน เจ้าของบ้านเสียอีกที่เป็นฝ่ายเดินมาอำถึงเรือนรับรอง พร้อมเสียงหัวเราะลงลูกคอตามสไตล์ว่า "เป็นไง - ไหนว่าจะมาสัมภาษณ์ไง"

คนฟังได้แต่ละอาย แต่ขณะเดียวกันมันก็ยืนยันคุณสมบัติอย่างหนึ่งของคนพูด - นั่นคือความเป็นมืออาชีพ

และนี่คือบันทึกการสนทนาในคืนต่อมา โดยมี ทินกร หุตางกูร และ พอล เฮง ร่วมแทรกบางคำถาม (อนึ่ง-หากสังเกตพบว่าสรรพนามในการพูดคุยเริ่มเปลี่ยนไปในช่วงกลางถึงท้ายของการสนทนา กรุณาทำความเข้าใจว่า เราตั้งใจรักษาบรรยากาศอย่างที่เป็นเช่นนั้นจริงๆ)

+โครงการทัวร์ครบตามโปรแกรมแล้ว ถึงตอนนี้พอประเมินได้หรือยังครับว่า ทั้งหมดที่ทำไปบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้หรือเปล่า

ก็ได้นะ อย่างน้อยเราก็ได้ไปบอกในสิ่งที่เราคิด อย่างที่บอกว่า เออ ไฟจะไหม้บ้านแล้วนะ เราจะหาวิธีป้องกันแก้ไขยังไง เราเองก็ไม่ได้หวังว่าคนจะมาฟังมากมายหรือโครงการนี้จะส่งผลสะเทือนใหญ่โต หน้าที่ของเราคือบอกปัญหา แล้วพอพูดไปส่วนใหญ่คนฟังเขาก็รับรู้เข้าใจ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าได้ตามที่ต้องการมั้ย เราถือว่าได้อย่างที่อยากทำ

+ก่อนที่จะออกไปตระเวนพูด คิดว่าเขารับรู้ปัญหาร่วมกันหรือยัง

คิดว่ารู้ เพียงแต่ว่าไม่รู้จะทำยังไงต่อ เพราะเขาคิดอยู่คนเดียว ไม่มีการรวมตัวกัน ไม่รู้จะไปรวมกับใครพูดกับใคร แต่พอเราไปพูดเขาก็มองเห็นเป็นภาพขึ้นมา อย่างน้อยหลังจากวันนี้ 30 กว่าร้านที่ไปมาเขาก็คงมีการโทรศัพท์ติดต่อกัน มีการพูดคุยถึงปัญหานี้เพิ่มเติมไปจากสิ่งที่เราบอก

+แต่ว่าสภาพจริงๆ แล้วร้านเล็กๆ ก็มีการแข่งขันกันอยู่ในทีใช่มั้ยครับ อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึงกรณีรายใหญ่

ใช่ คือเวลาเราทำธุรกิจเรามักจะมองคนที่ทำอะไรเหมือนกับเราเป็นศัตรู อย่างบางจังหวัดเรากำลังพูดๆ ก็จะมีรถโฆษณาขายหนังสือของอีกร้านตะโกนอยู่ข้างนอกบอกว่าที่ร้านโน้นก็จะจัดงาน ก็เป็นการแข่งขันกันอย่างหนึ่ง ซึ่งเรามองว่าถึงที่สุดแล้วมันทำลายกันเอง

เหมือนกับร้านก๋วยเตี๋ยว เราก็อยากจะให้ร้านข้างๆ มันเจ๊งเพื่อเราจะได้ขายคนเดียว มันเป็นธรรมชาติของคนทำธุรกิจ

+กรณีบรรยากาศมึนตึงแบบนี้ ก็ได้ไปเจอกับตัวเอง ?

บางร้านก็มีปัญหา อย่างสมมติเขามีร้านอยู่ 2 จังหวัด แต่จังหวัดก่อนหน้าเราไม่ได้ลงร้านเขา พอเรามาอีกจังหวัดจะไปร้านเขามันก็มีท่าทีไม่พอใจด้วยการไม่แสดงการต้อนรับเท่าที่ควร อย่างพอเราไปเขาไม่ได้เตรียมอะไรไว้เลย มีโต๊ะตัวมีไมโครโฟนตัว ระบบเสียงคุณภาพเสียงเป็นไงไม่รู้ เสร็จแล้วเราก็พูดกับอากาศไป (หัวเราะ) เหมือนจัดรายการวิทยุ เป็นงี้จริงๆ คือคนพูดก็พูดไป ลูกค้าก็เดินซื้อหนังสือไป ไม่มีที่นั่งไม่มีอะไรเป็นกิจจะลักษณะ แต่ก็ไม่มีปัญหานะ เรามีหน้าที่พูดเราก็พูด แล้วพูดเหมือนเดิมกันทุกจังหวัด

+เจอแบบนั้นใจไม่แป้วบ้างเหรอครับ

เราก็ปกติ...มันเป็นเรื่องของมืออาชีพ ถามว่าโกรธมั้ยก็ธรรมดาของคน แต่มันไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปแสดงท่าทีโมโหหรือไม่พอใจ หน้าที่เราคือพูดในสิ่งที่เตรียมมาให้ดีที่สุด ที่เหลือจากนั้นไม่ใช่หน้าที่ของเรา เพราะถึงที่สุดแล้วมันก็จะประจานร้านเขาเอง หน้าที่เราคือรับผิดชอบงานที่อยู่ข้างหน้าอย่างมืออาชีพ คนจะน้อยจะมากเราพูดเหมือนกันหมด ชั่วโมงครึ่งเหมือนกัน ไม่ใช่แบบ...เจอคนน้อยๆ จะมาบอก เอาครับ..สวัสดี-ลาก่อน (หัวเราะ)

แต่งานนั้นก็ผ่านมาได้ด้วยดีนะ ตอนพูดคนก็เดินเลือกหนังสือตามชั้นไปไม่ได้สนใจอะไร (หัวเราะ) เราก็ไม่รู้ล่ะพูดเสร็จก็อ่านบทความ ขอบคุณสีนาก ตามสคริปท์ที่เตรียมไว้เหมือนกันทุกที่ คือจะอ่านบทความนี้ปิดท้าย ตอนนั้นแหละพออ่านๆ ไปคนถึงเริ่มหยุดฟัง ฟังเสร็จก็เดินเข้ามาคุยเข้ามาขอให้เซ็นหนังสือ...เราถึงรู้สึก เออโว้ย เราเอาอยู่ (หัวเราะ)

ในแง่หนึ่งโครงการนี้มันก็ทำให้เราได้เจอคนอ่านของเราด้วย อย่างพระบางรูปบวชเรียนถึงขั้นมหาแล้วนะ มาฟังเสร็จเดินเข้ามาคุยบอกว่า...อาตมาเป็นแฟนพันธุ์แท้ของโยม (หัวเราะ) ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าท่านชอบพันธุ์หมาบ้าหรือเปล่า (หัวเราะ) ได้แต่นมัสการท่านไป หรืออย่างเด็กหนุ่มคนหนึ่งมากับแหม่ม ซื้อหนังสือเสร็จก็เดินเข้ามาขอลายเซ็น เราก็เดาว่าเขาคงเป็นแฟนหนังสือเรา แต่พอถาม เขาบอกไม่เคยอ่าน คนที่เคยอ่านคือแฟนเขาที่เป็นฝรั่ง คงอ่านฉบับภาษาอังกฤษแล้วถึงแนะนำให้เด็กหนุ่มคนนั้นอ่านฉบับภาษาไทย

+อย่างกรณีที่บอกว่าไฟกำลังไหม้บ้าน เอาเข้าจริงแล้วเป็นไปได้ไหมครับว่า ระบบขายหนังสือแบบเดิมอาจจะมีปัญหาอยู่ก่อนแล้ว คนตัวเล็กก็อ่อนแอเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก่อนที่จะเปิดช่องให้คนตัวใหญ่เข้าไปแทรก

ถูก...คนตัวใหญ่เขาอาจจะไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าคนตัวเล็กเป็นศัตรู เขาเพียงแต่ขยายธุรกิจในองค์กรของเขา จริงๆ แล้วคนตัวเล็กนั่นเองแหละที่มีปัญหา คือไม่พัฒนาที่จะประกอบอาชีพให้เต็มความสามารถหรือไปให้ไกลกว่าเก่า เคยทำยังไงก็ทำยังงั้น นั่นคือปัญหาของคนตัวเล็กในปัจจุบันนี้

ทีนี้พอคนตัวใหญ่เข้ามา มาพร้อมกับรูปแบบความพร้อมทุกอย่าง มันก็เกิดข้อเปรียบเทียบ แต่ปัญหาแรกคือคนตัวเล็กไม่ยอมพัฒนาตัวเอง มัวแต่คิดว่าไม่มีอะไร ภัยตัวนี้คงมาไม่ถึงตัวหรอก...ก็อยู่ๆ กันไป ถ้าเป็นข้าราชการก็แบบเช้าชามเย็นชาม เพราะถ้าสมมติร้านเล็กๆ เขาแข็งจริงทุนใหญ่ก็เข้าไม่ได้ อย่างที่พิษณุโลกร้านเล็กๆ เขาก็มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

+ถือว่างานนี้คุณเอาชื่อเสียงที่สั่งสมมา ไปเสี่ยงกับการถูกเหม็นหน้าจากคนตัวใหญ่พอสมควร ?

ไม่นะ ผมไม่ได้คิดตรงนั้น แล้วก็ไม่ได้คิดว่าจะเอาชื่อเสียงที่สั่งสมมาไปลงตรงนั้น เราแค่คนไปบอกไปเตือนเขาเฉยๆ ไม่ได้คิดว่าเป็นการทำให้คนตัวใหญ่มาเหม็นผม เพราะผมพูดเสมอว่าเราน่าจะอยู่ร่วมกันได้ ห้างใหญ่ๆ ก็อยู่ได้ ร้านเล็กๆ ก็อยู่ได้...คืออยู่ร่วมกัน ผมต้องการอย่างนั้นมากกว่า อย่างที่คนจีนเขาบอกต้องแบ่งกันกิน เราไม่ได้มีความคิดว่าร้านเล็กๆ ต้องสู้ต้องอยู่แล้วไปขับไล่ร้านใหญ่ๆ เขา เราไม่ได้มีความคิดแบบนั้น

มันก็เหมือนที่เราชอบเปรียบเทียบ ถ้าต่อยมวยแบบเสรีโดยไม่ต้องมีรุ่น ไอ้คนตัวเล็กกว่ามันก็ต้องสู้รุ่นใหญ่ไม่ได้อยู่แล้ว ทีนี้เราควรจะมีกฎหมายหรือมีอะไรก็แล้วแต่มาควบคุมไหม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายป้องกันการผูกขาด คุณทำกิจการนั้นอยู่ ก็ไม่ควรเพิ่มกิจการนี้เข้ามา ไม่งั้นถือว่าเข้าข่ายผูกขาด มันน่าจะมีกติกาแบบนี้ เสร็จแล้วเราค่อยมาแข่งกัน ไม่ใช่การค้าเสรีโดยไม่มีกติกา ไปให้รุ่นเล็กแบกน้ำหนักรุ่นใหญ่

+อย่างเวลาคุณพูดถึงเจ้าของธุรกิจสิ่งพิมพ์รายใหญ่ 4 เจ้าบ่อยๆ เคยมีปฏิกิริยาตอบโต้กลับมาบ้างไหมครับ

เท่าที่ผ่านมาไม่เคยมี เพราะเขาก็น่าจะเห็นว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง เพราะฉะนั้นจึงไม่เคยมีปฏิกิริยาอะไร แล้วก็ไม่น่าจะมีด้วย

+เท่าที่มองตอนนี้ มันมีกลไกอะไรที่พอจะช่วยให้คนตัวเล็กแข็งแรงขึ้นมาบ้าง

เรื่องนี้ก็ธรรมดา ถ้าเราแรงน้อยเราก็ควรจะรวมตัว แล้วก็เอาพลังที่เพิ่มขึ้นนั้นไปต่อรอง อย่างถ้าเราเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ตอนนี้ร้านเล็กๆ ทั่วประเทศมีสัดส่วนมากกว่าร้านใหญ่นะ เพียงแต่ว่าเราไม่มีการสร้างเครือข่ายเพื่อต่อรองเท่านั้นเอง ถ้ารวมตัวกันติดต่อรองกันได้อำนาจมันก็จะคานอีกฟาก สุดท้ายร้านใหญ่เขาก็อยู่ได้ขณะเดียวกันร้านเล็กๆ ก็รอด

+แต่ถ้าเราคิดในฐานะคนซื้อ ร้านใหญ่เขาสามารถให้ส่วนลดได้เยอะ ขณะที่รายเล็กอาจจะลดไม่ได้ขนาดนั้น ซึ่งถ้าเป็นของชนิดเดียวกันเป็นใครก็คงอยากได้ของถูก ถึงที่สุดแล้วทั้งหมดนี้มันไม่ไปตันที่กลไกราคาเหรอครับ

แต่อย่าลืมนะว่าถึงตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นร้านหนังสือรายใหญ่หรือสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เขาก็ยังต้องอาศัยร้านเล็กวางหนังสืออยู่นะ เขาไม่ได้วางแค่ร้านใหญ่อย่างเดียว นี่คือเราพูดเฉพาะขณะนี้นะ แต่ในอนาคตไม่แน่...ถ้าเขาสามารถยึดพื้นที่ได้เต็มเขาก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งร้านเล็ก

เพราะฉะนั้นมันก็อาจจะต่อรองได้ในแง่ที่ว่าถ้าคุณลดของคุณได้ คุณก็ต้องลดให้เราด้วย ไม่งั้นเราก็อาจจะไม่รับวาง...สมมติถ้าเป็นอย่างนั้นนะ...นี่คือเรื่องสมมติ

+ที่ถามเรื่องนี้เพราะเวลาเราพูดถึงคนตัวเล็กทีไร ส่วนใหญ่ก็มักจะว่ากันไปเรื่องความช่วยเหลือเห็นอกเห็นใจ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงทางธุรกิจแล้วมันคงไม่เวิร์ค ?

ไม่สิ ที่เราทำตรงนี้เราไม่ได้มาเรียกร้องให้เห็นอกเห็นใจ เพียงแต่ว่าในระยะเริ่มต้นที่รายเล็กยังไม่ได้ขยับ ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เราอาจจะเรียกร้องคนอ่านให้หันมาเหลียวแลร้านเล็กๆ บ้าง นี่คือสิ่งที่เราพอทำได้ หมายความว่าเราแค่บอกแฟนหนังสือของเราว่าช่วยเหลียวแลหน่อย แต่ในระยะต่อไปถ้าเขารวมกันได้เขาก็อาจจะมีมาตรการต่อรองเขาของ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะเข้าไปจัดการ หน้าที่เราคือเขียนหนังสือ

+จากที่เดินสายพูดมา เริ่มเห็นตัวแล้วใช่ไหมว่าจะมีใครมาสานต่อทำหน้าที่แพ็คร้านเล็กๆ เข้าด้วยกัน

หลังงานนี้ก็เห็นมีคนเข้ามาขอเบอร์ติดต่อร้านต่างๆ จากเรา เสร็จแล้วจากนั้นเขาก็คงต้องคุยกันเอาเอง พูดง่ายๆ หน้าที่ของเราจบแล้ว ที่เหลือเป็นหน้าที่ของเขา ก็คงมีการประชุมดำเนินการกันต่อ แต่ถ้าเขาไม่ทำนั่นก็เป็นเรื่องของเขาอีก เราไม่ก้าวก่าย

ที่เราพูดเพราะเราเห็นว่าปัญหาเหล่านี้มันเริ่มก่อตัวชัดขึ้นเรื่อยๆ ทีนี้ที่ผ่านมาเรามักจะปล่อยให้ปัญหาบางปัญหามันเน่ามันเฟอะก่อนแล้วค่อยมาตามแก้ ยกตัวอย่างโชวห่วยก็ไปไกลจนแก้ไม่ไหวแล้ว แต่กรณีร้านหนังสือมันเพิ่งเริ่มเกิดซึ่งพอมองเห็นทางรับมือกันได้ อาจจะมีกฎหมายหรือมีกติกาอะไรก็แล้วแต่มาดูแลเอื้อให้คนเล็กๆ พอมีที่ยืนอยู่ได้บ้าง...ซึ่งไม่รู้นะ...เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมไม่มีความรู้ ผมแค่เป็นคนบอกข่าวให้แฟนหนังสือของผมรับรู้ ให้ร้านหนังสือตื่นตัว ส่วนจะคิดจะทำอะไรกันต่อก็ต้องรับช่วงไป มันไม่ใช่กิจของสงฆ์แล้ว (หัวเราะ)

+ทีนี้พูดถึงวัตถุประสงค์อีกข้อของโครงการทัวร์ครั้งนี้ คือการเปิดโอกาสให้นักเขียนกับนักอ่านได้มาเจอกัน ซึ่งเรื่องนี้บางคนก็คงมีคำถามเหมือนกันว่า เดี๋ยวนี้นักเขียนจำเป็นต้องทำขนาดนั้นเหรอ

บางคนอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของนักเขียนที่จะต้องตระเวนไปหาคนอ่าน แต่ผมมองเห็นความจำเป็นของนักเขียนในประเทศเราซึ่งอาจจะจัดอยู่ในโลกที่ 3 ผมคิดว่ามันจำเป็นเพราะคนอ่านของเรามีจำนวนจำกัด โดยอาชีพการเขียนหนังสือเราอยู่ได้เพราะคนอ่าน ผมใช้คำว่าคนอ่านคือผู้มีพระคุณ แต่ถ้าเราไม่สร้างคนอ่านขึ้นมา อีกหน่อยจำนวนหนังสือที่ขายมันก็จะลดน้อยลง

นี่ผมไม่ได้หมายถึงส่วนตัวนะแต่รวมถึงทุกๆ คน อ่านของใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องอ่านผม ถ้าเราไม่ช่วยกันขยายพื้นที่คนอ่าน ตลาดมันก็จะอยู่แค่นั้นแล้วมีแนวโน้มจะแคบลงเรื่อยๆ แต่ถ้ามีคนพยายามทำให้พื้นที่คนอ่านกว้างขึ้น คนซื้อหนังสือมากขึ้น มันก็จะดีกับทุกคนไม่ใช่เฉพาะกับผมคนเดียว

+หมดยุคที่นักเขียนต้องเก็บตัวเขียนหนังสืออย่างเดียวแล้ว ?

พูดลำบาก เพราะบางคนอาจจะไม่สะดวกที่จะทำ แต่ก็อยากจะบอกว่าถ้าใครทำได้ควรช่วยกันทำ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างนี้ก็แล้วกัน สมมติคนเดินไปร้านหนังสือ เห็นหนังสือ 2 เล่ม เล่มหนึ่งใครเขียนไม่รู้ อีกเล่มหนึ่งเป็นหนังสือของคนที่เขาเคยไปพูดให้ฟัง อาจจะในโรงเรียนหรืออะไรก็ตามแต่ เสร็จแล้วคนซื้อมีกำลังซื้อแค่เล่มเดียว เขาก็ต้องเลือกซื้อหนังสือของคนที่เขาเคยเห็นหน้าค่าตากัน ต่อให้ไม่เคยอ่านงานกันมาก่อนก็ตาม

+คุณถึงให้ความสำคัญกับการเตรียมตัวก่อนขึ้นเวทีพูดสูงมาก เห็นว่าแต่ละครั้งต้องไปก่อนเวลาหลายชั่วโมงเพื่อเตรียมความพร้อม ?

ซุนหวู่ถึงบอกให้รู้เขารู้เราไง อย่างวันนี้ถ้าผมไปตรงเวลาหรือช้ากว่านิดหน่อยงานจะเละ (เน้นเสียง) เพราะร้านเขาไม่เคยมีประสบการณ์จัดงานแบบนี้มาก่อน มาถึงมีเก้าอี้ตัวแล้วก็มีโต๊ะให้ผมตัว นอกนั้นไม่มีอะไรเลย

+จะให้พูดกับอากาศอีกแล้ว ?

เออ...มันไม่มีอะไรเลย บังเอิญเราพอมีประสบการณ์รู้ว่าจะแก้ปัญหายังไง ก็เอาเครื่องเสียงของเรามาตั้ง บอกทางร้านว่าให้เอาเก้าอี้ในสโตร์มาวางให้คนนั่งซะหน่อย เราก็จัดของเราเอง เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวจะช่วยลดความผิดพลาดให้เกิดน้อยที่สุด ถ้าจะเกิดปัญหาต้องเป็นปัญหาใหม่ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน การปล่อยให้ปัญหาเก่าเกิดขึ้นซ้ำๆ คนฉลาดเขาไม่ทำกัน (หัวเราะ)

ระหว่างทัวร์ก็สำคัญ ไปต่างจังหวัดบางทีต้องนอนก่อน จะให้นอนดึกแล้วไปพูดทั้งเพลียๆ มันก็ไม่ไหวไม่มีแรงพูด...เรื่องวินัยนี่สำคัญมาก เพราะไปแต่ละที่ก็จะมีพรรคพวกเพื่อนฝูง พูดเสร็จก็อาจจะต้องนั่งคุยนั่งดื่มกันต่อซึ่งส่วนใหญ่ก็มักติดลมแล้วดึก แต่บางทีโปรแกรมต่อเนื่องวันรุ่งขึ้นเรารู้แล้วว่าถ้าดึกแล้วจะไม่ไหว ก็ต้องใช้วิธีหนี...คือพูดเสร็จขับรถกลับเลย ไปให้พ้นเขตตัวเมืองเสร็จแล้วจะนั่งกินข้าวกินอะไรนิดๆ หน่อยๆ ค่อยว่ากัน แต่ถ้านั่งในเมืองเราทำอย่างนั้นไม่ได้ เกิดคนมาเจอเห็นเรานั่งๆ ก็จะคิดว่าเรารังเกียจไม่อยากร่วมวงด้วย ก็ไหนเมื่อกี้ปฏิเสธ...ต้องมาอธิบายกันอีก

+ปัญหาร้านเล็กๆ ขาดความพร้อมนี่เจอบ่อย ?

บางที่เขาบอกเลยนะว่าเขาไม่กล้าจัดเขาไม่มีประสบการณ์เพราะฉะนั้นจัดไม่ได้หรอก ทีนี้เขาก็เสนอว่าอยากทำแต่ไปจัดที่ราชภัฏได้มั้ยเพราะที่นั่นมีสถานที่มีความพร้อมคนฟังก็เยอะ ผมก็บอกงั้นไม่เป็นไร...ไม่เอา เพราะมันขัดกับไอ้สิ่งที่ผมอยากจะทำ แต่ในที่สุดเขาก็ยอมจัดที่ร้าน เสร็จแล้วมันก็ผ่านไปด้วยดี เพียงแต่เขาไม่เคยทำแล้วเขากังวลเท่านั้นเอง พอเสร็จแล้วผมก็บอก...เออ...นี่ไงคุณก็ทำกันได้

อย่างวันนี้เหมือนกัน เขาไม่เคยจัดกิจกรรมแบบนี้มาก่อนก็เลยเริ่มต้นไม่ถูกว่าควรทำยังไง นึกว่าผมมานั่งแล้วเซ็นหนังสือเฉยๆ แต่หลังจากวันนี้เขาจะเห็นแล้วว่าทำยังไง ต่อไปใครมาก็สามารถจัดกันเองได้

+ที่จริงร้านหนังสือใหญ่เขาอาจจะมองได้ว่า กิจกรรมพูดคุยลักษณะนี้เริ่มต้นมาจากร้านหนังสือใหญ่ก่อน หลังจากบรรยากาศการอ่านการเขียนบ้านเราซบเซาไปนาน เขาเป็นฝ่ายปลุกมันขึ้นมาใหม่ด้วยซ้ำ ?

มันก็เป็นไปได้ ในแง่ที่ว่ากิจกรรมงานเปิดตัวหนังสือมันเริ่มขึ้นจากร้านใหญ่ๆ แต่อย่าลืมว่าเขาเองก็ยืมรูปแบบนี้มาจากเมืองนอกใช่มั้ย ถ้าเราจะเอามาจากเขาอีกทีมันก็ไม่ต่างกัน จุดประสงค์เราก็คือว่าทำยังไงให้ร้านเล็กๆ ได้มีกิจกรรมบ้าง

+ธรรมชาติของคุณเป็นคนชอบเรื่องแบบนี้อยู่แล้วหรือเปล่าครับ

เรื่องแบบไหน

+เรื่องได้ออกไปพบปะคนหรือต้องมาข้องเกี่ยวกับธุรกิจ

ที่จริงผมชอบอยู่เงียบๆ แต่เรื่องนี้จำเป็นต้องทำ แล้วไม่ใช่ว่าที่ผมทำเพราะผมเก่งกว่าคนอื่น แต่ผมอาจจะพร้อมกว่าในแง่เวลาและทุนรอน เหมือนอย่างที่ผมบอก อะไรที่คิดแล้วไม่ลงมือทำอย่าไปคิด เพราะมันเสียเวลา แต่ถ้าเราคิดแล้วทำเสร็จแล้วจะได้แค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

+ถ้ามีคนพูดเข้าหูว่าพี่ชาติเป็นนักเขียนที่เก่งเรื่องการตลาดมาก จะรู้สึกยังไง...ภูมิใจหรือโมโห

ผมจะภูมิใจที่เขามองละเอียดขนาดนั้น (หัวเราะ) คือเขาจะชมหรือด่าเราไม่รู้ แต่เราชมเขา...ชมเขาว่า...เออ..เขาเก่งที่มองเราละเอียด (หัวเราะ)

+ขออนุญาตยกตัวอย่างโง่ๆ นะครับ เช่น ได้มีการวางแผนกำหนดลุค (look) ล่วงหน้ามั้ยว่า เดินสายเที่ยวนี้จะต้องไว้ผมทรงนี้..สวมเสื้อกั๊กสีน้ำเงินตัวนี้เวลาจะขึ้นเวทีพูด คล้ายๆ นักร้องดูแลอิมเมจตัวเองเวลาออกทัวร์โปรโมทอัลบั้ม เพื่อให้คนจดจำเป็นภาพเดียวกัน

มันเป็นความบังเอิญ...จริงๆ นะ ผมไม่ได้ตั้งใจจะเลียนแบบอาจารย์ธีรยุทธ (บุญมี) หรืออยากแต่งตัวให้เหมือนวินมอเตอร์ไซค์ คือผมชอบใส่เสื้อยืดแล้วเสื้อยืดมันไม่มีกระเป๋า แล้วเวลาเดินทางมันต้องใช้กระเป๋าเยอะ ใส่แว่น ใส่บุหรี่ ใส่ยาอม ใส่ปากกา...อะไรพวกนี้ แล้วบังเอิญวันนั้นโส่ย-ภรรยาผม เขาไปตลาดแล้วซื้อมาตัวละ 25 บาท ผมก็เอามาใส่...เออโว้ย สวยดี คล้ายวินมอเตอร์ไซค์เวลาเดินตลาดแล้วกลมกลืนดี

+แต่เห็นการเตรียมตัวก่อนขึ้นพูดของพี่ชาติแล้วน่าจะศึกษามาก เพราะคนในวงการนักเขียนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคิดเรื่องนี้กัน

นี่ก็ว่าจะจัดทอล์ค โชว์แข่งกับโน้ส อุดมอยู่เหมือนกัน...เอาประมาณนี้แหละชั่วโมงครึ่ง

+พอล เฮง : พี่ชาติเคยฝึกพูดหน้ากระจกบ้างมั้ยครับ

กูไม่ได้บ้าขนาดนั้น (หัวเราะ)

+เราเคยนั่งคุยกันว่า บางทีการที่นักเขียนออกไปพูดโน่นพูดนี่เยอะๆ แทนที่จะเป็นประโยชน์ทำไปทำมาอาจเข้าข่ายทำร้ายตัวเอง เพราะนักเขียนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกฝึกทักษะเรื่องนี้...พอยิ่งพูดคนฟังยิ่งเบื่อ

มันอยู่ที่ว่าเรามีอะไรที่จะพูด แล้วพูดออกไปจากความจริงในใจเรา มันก็จะสื่อสารกันได้เอง แต่บางทีเราไปเตรียมตัวไปท่องอะไรมากซึ่งไม่ได้เป็นความจริงในใจอย่างที่เราคิด...มันก็ล้มเหลว อย่างโครงการนี้ผมพูดไป 30 กว่าแห่งก็จะพูดคล้ายๆ กันหมดเพราะเรามีประเด็นที่จะพูด

อีกอย่างวิธีการพูดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนพูดแล้วคนเครียดคนหลับกันหมด...นี่ก็เป็นสไตล์ของเขา แต่เราชอบทำให้คนยิ้มทำให้คนหัวเราะ เหมือนที่ไพวรินทร์ (ขาวงาม) เคยถามเราทำไมพี่ชาติชอบอำ เราก็ตอบไม่ถูกเพราะเกิดมาก็เจออย่างนี้แล้ว ครอบครัวเราเขาอำกันทั้งบ้าน พ่อ พี่ น้อง อา อำกันหมด เราเกิดมาก็เจอแบบนี้แล้วจะไม่ให้เราเป็นได้ไง (หัวเราะ) ซึ่งไม่ใช่ว่าการพูดแล้วขำจะดีนะ แต่การพูดให้คนเข้าใจมันฝึกกันได้ แต่ถ้าเราชอบใจว่าพูดทีไรคนหลับทุกที...ก็ให้ยืนยันตรงนั้นไว้ (หัวเราะ)

+ย้อนกลับมาเรื่องงานเขียน พี่ชาติได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนที่มีวินัยสูงมาก แต่เห็นบ่นว่ามีงานออกมาน้อยเกินไป.. นักเขียนอายุ 50 มีงานออกมา 12 เล่มนี่ยังถือว่าน้อยเหรอครับ

น้อย..น้อยมาก เทียบกับคนรุ่นๆ ผมเขาเขียนเขียนเยอะกว่าผมทั้งนั้นแหละ บางทีเจอคนอ่านถามเราก็อาย ตอนนั้นลงมาจากเขาใหญ่พอดีมีงานดนตรีกลางคืนเราก็กินเหล้าแบบนี้แหละ เช้าขึ้นมาก็นั่งกินก๋วยเตี๋ยวอยู่เชิงเขาใหญ่ มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาที่โต๊ะแล้วก็บอกว่า...คุณน่ะเอาเปรียบเรา

เออ...เราก็งง เอ๊ะ ไปเอาเปรียบเขาตอนไหน เรื่องอะไรวะ (หัวเราะ) ก็ถามเขา ผมไปทำอะไรให้เหรอครับ เขาบอก คุณน่ะเอาแต่งานเก่ามาเปลี่ยนปก (หัวเราะ) ไม่ยอมเขียนงานใหม่ เราฟังแล้วรู้สึกอาย

+พออายุขึ้นเลข 5 รู้สึกตกใจบ้างมั้ยครับ

มีเหมือนกัน คือเราตกใจในแง่ที่ว่าเวลาในการทำงานมันงวดเข้าเรื่อยๆ เรายังทำอะไรได้ไม่ถึงเท่าที่เราอยากทำ อีก 10 ปีเราจะอายุ 60 มันน่าจะมีอะไรมากกว่าที่เราทำอยู่ตอนนี้ แต่ไม่ได้หมายความตกใจเพราะกลัวตาย ไอ้เรื่องลงหลุมเราไม่เคยกลัว แต่ใจเราคิดเรื่องงานเอาไว้ว่าชีวิตนี้อยากมีหนังสือสัก 20 เล่ม...ซึ่งโหย..อีก 8 เล่มนี่ไม่ใช่ง่ายๆ (หัวเราะ)

แล้วเรื่องนี้เตือนพวกเราเลยนะ ช่วงอายุ 35-40 หรือ 40-50 ปีนี่โคตรเร็วเลย ใครที่อยู่ในอายุช่วงนี้ระวัง (เน้นเสียงจริงจัง) แล้วมันเป็นกันทุกคน อาจจะเพราะว่าเป็นช่วงวัยฉกรรจ์วัยทำงานอะไรๆ มันผ่านไปเร็วมาก ไม่เหมือนตอนเด็กๆ อะไรก็ช้าไปหมด

+แต่ทุกวันนี้พี่ชาติยังทำงานเขียนด้วยลายมือ ไม่คิดหาเครื่องทุ่นแรงเหรอครับ ?

คอมพิวเตอร์ก็มี...แต่ผมคิดงี้ นี่พูดไปก็เหมือนกับว่าผมทำการค้าอีก คือถ้ามีคนจะเอาต้นฉบับผมไปแสดงแล้วไปโชว์แค่แผ่นดิสก์มันจะดูไม่มีค่าอะไร แต่อย่างน้อยถ้าผมตายไป ภรรยาผมยังเอาต้นฉบับลายมือไปขายได้...เห็นมั้ย ดูวิธีคิดสิ (หัวเราะ)

+ตกลงที่เขานินทากันนั่น-ถูกต้องแล้ว ?

ต้องยอมรับว่าเขามองเราได้ละเอียดจริงๆ (หัวเราะ)

+มันสนุกเหรอครับมานั่งคิดเรื่องแบบนี้ หรือว่าเป็นธรรมชาติของพี่อยู่แล้ว

สนุกสิ ผมถึงบอกว่าอย่าให้ผมไปทำการค้า...ไม่งั้นทักษิณลำบาก (หัวเราะ)

+กรณีที่คนอ่านพูดถึงการเอางานเก่ามาเปลี่ยนปกหรือแปลเป็นภาษาอังกฤษ ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวิธีทำตลาด ?

พูดเฉพาะกรณีแปลเป็นภาษาอังกฤษที่จริงเป็นธุรกิจที่น่าลงทุน เพราะอะไร เพราะมันเอื้อให้ตั้งราคาสูงได้ อย่างผมเคยทำ คำพิพากษา ฉบับภาษาอังกฤษพิมพ์กระดาษปรู๊ฟ ตั้งราคาไป 150 กะให้นักศึกษาอ่าน ร้านที่เราจะไปวางเขาไม่รับนะ คือเปอร์เซ็นต์มันต่ำไปเขาก็ได้เงินน้อย เราก็ต้องตั้งราคาให้มันสูงเกินจริงทั้งๆ ที่ต้นทุนก็เท่าภาษาไทยนั่นแหละ แต่ร้านเขาคิดบวกฝรั่งซื้อเข้าไปแล้ว นี่ก็คือข้อได้เปรียบของมัน

แต่ระยะเวลาการขายมันนานไง คำพิพากษาฉบับภาษาอังกฤษใช้เวลาขาย 2 ปีกว่าจะหมด ซึ่งถ้าเป็นสำนักพิมพ์อื่นเขารอไม่ได้ แต่ของเราพิมพ์เองขายเองเรารอได้ และถ้าเรามองในแง่การลงทุนมันคุ้มกว่าภาษาไทย เพราะเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งจากราคาปกมันก็สูงกว่า

+หลังๆ วิธีตั้งราคาหนังสือยิ่งพิสดารขึ้นเรื่อยๆ ?

ซึ่งคนอ่านนั่นแหละเดือดร้อนมากที่สุด โดยที่ตัวเองไม่รู้เรื่องด้วย นี่ก็เป็นอีกเรื่อง...คือแทนที่เราจะปล่อยให้มีการตั้งราคากันประหลาดๆ มันน่าจะมีการคุยกำหนดเป็นมาตรฐานเลยว่าถ้าหนังสือพิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์ จำนวนยกเท่านั้นเท่านี้ ราคามาตรฐานมันควรจะสักเท่าไหร่ ต้นทุนมันคิดออกมาได้นี่ ถ้าคุณจะอ้างว่าหนังสือเป็นสินค้าทางปัญญาแล้วจะมาตั้งราคาตามใจชอบ อีกหน่อยบุหรี่เขาบอกว่าเป็นสินค้าทางอารมณ์แล้วขอขึ้นราคามั่ง ทีนี้จะทำไง (หัวเราะ)

ไม่รู้นะ การที่เรามีแฟนหนังสือ มีเด็กๆ อ่านหนังสือของเราเยอะ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะวิธีตั้งราคาหนังสือของเราก็ได้

+มีงานเล่มไหนขายขาดให้สายส่งบ้างไหมครับ

ไม่มี ขายขาดทำไมในเมื่องานเราขายได้ เราแค่อดทนอดออมหน่อย ถึงเวลาส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์จากการฝากขายมันได้มากกว่า เอาอย่างนี้ดีกว่า ตอนนี้ผมมีหนังสือในมือ 12 เล่ม สมมติทุกเล่มพิมพ์ซ้ำทุกปี มันก็เท่ากับมีเงินมาชนกันทุกเดือนทุกเดือน ผมกลายเป็นคนมีรายรับทุกเดือน แล้วเรื่องอะไรเราต้องไปขายขาดเสียเปอร์เซ็นต์ตรงนั้นให้เขาไปทำไมล่ะ แต่สำหรับบางคนอาจจะจำเป็นเพราะคุณยังทำไม่ครบรอบแบบนี้

+พันธุ์หมาบ้าฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุด มีการเอาตัวรูปละครอย่างอ๊อตโต ทัย มาเปิดเผย หรือมีสัมภาษณ์เล็กฮิป ถ้ามองในแง่งานเขียนแล้วไม่กลัวว่าจะเป็นการทำลายจินตนาการคนอ่านเหรอครับ

อันนี้เป็นไอเดียของเพื่อนเราที่ทำงานโฆษณา คือเราพิมพ์ออกมายังไงก็มีคนซื้ออยู่แล้ว แต่ทำยังไงให้คนซื้อเร็วขึ้น หมายความว่าช่วยเร่งการตัดสินใจเขา เพื่อนก็เสนอว่าก็ทำสัมภาษณ์แล้วเอารูปมาลงสิ เราก็เออ...เห็นด้วย ทีหนังยังมีไดเรคเตอร์ คัท ใช่มั้ย

แต่อย่างที่พูดว่ามันไปทำลายจินตนาการคนอ่านมั้ย...อันนี้ก็อาจจะมีส่วน เราถึงทำครั้งนี้ครั้งเดียวไง ครั้งต่อไปพิมพ์ใหม่เราก็ดึงส่วนนี้ออก เสร็จแล้วยังไงรู้มั้ย ในอนาคต พันธุ์หมาบ้า ฉบับภาคผนวกมีบทสัมภาษณ์ก็จะกลายเป็นของหายาก มันก็ต้องมีคนเล่นมีคนเอาไปปั่นราคากันในตลาด

+นี่ก็คืออีกตัวอย่างหนึ่งของการคิดละเอียด ?

(หัวเราะ) ใช่ เพราะเราจะเก็บเอาไว้ 1,000 เล่ม เผื่อขายต่อ (หัวเราะ)

+มีคนพูดว่าชาติ กอบจิตติ เป็นนักเขียนไม่กี่คนที่จิ๊กโก๋ชอบ ขณะเดียวกันปัญญาชนก็ชื่นชมด้วย เคยถามตัวเองไหมว่าเพราะอะไร

พูดจริงๆ เลยนะ เราไม่เคยคิดเลยว่าคนอ่านของเราเป็นใคร เราทำอย่างที่เราอยากทำ ทำอย่างที่เราอยากอ่าน ไม่รู้สิ แฟนๆ จิ๊กโก๋ของเราอาจจะอ่าน พันธุ์หมาบ้า มั้ง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราทำออกมาเพื่อเอาใจจิ๊กโก๋

+เคยมีกรณีอั้นตัวเองมั้ยครับ คืออยากพูดประเด็นแบบนั้นด้วยวิธีการแบบนั้น แต่จำเป็นต้องอั้นไว้หน่อยไม่งั้นคนอ่านไม่เก็ทหรือแมสอาจจะตามไม่ทัน

ไม่ๆๆ บางคนอ่านเรื่อง เวลา ยังสงสัยเลยว่าคนในห้องตาแก่ที่หายไปเป็นผีหรือเปล่า ถ้าเราอั้นเราต้องเขียนอธิบายให้เข้าใจมากกว่านั้น

+ทินกร : ตอนนี้สุขภาพพี่ชาติเป็นยังไงบ้างครับ

ที่ยังต้องดูแลอยู่คือตับ อย่างตอนเราทัวร์ก็ยังเสียวๆ อยู่ว่าจะไหวมั้ย ไม่ใช่อะไร กลัวว่าร่างกายจะไม่ไหว แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยดีไม่เคยสายไม่เคยเบี้ยว นี่พอเสร็จงานนี้ต้องไปหาหมอเอายามากินต่อ

+พอล เฮง : แต่อย่างพี่ชาตินี่กินเหล้าซ้ำยี่ห้อไม่ได้ใช่มั้ยครับ

หมายความว่าไง

+เคยได้ยินพี่ชาติบอกว่าหมอแนะนำให้กินเหล้าเปลี่ยนยี่ห้อไปเรื่อยๆ เหมือนเปลี่ยนยี่ห้อแชมพู จะได้ช่วยดูแลสุขภาพตับ ?

(หัวเราะ) ไม่ใช่กูพูด

+ทินกร : พี่ชาติเคยบอกตอนคมสัน (นันทจิต) มาบ้านนี้ ?

บ้า นั่นกูอำเล่น ขืนพูดแบบนั้นหมอด่าตาย แต่ตกลงนี่เชื่อกันหมดเลยเหรอ (หัวเราะ) กูก็นึกว่าพวกมึงจะมีสติปัญญามากกว่านี้...กูประเมินพวกมึงผิดไป (หัวเราะ)

+แต่ว่ายังไงก็ไม่คิดจะเลิกดื่มใช่มั้ยครับ

คงไม่...หรือว่าจนกว่าหมอจะสั่งให้หยุดเด็ดขาด เพราะมันไม่ได้เสียหายอะไรนี่...ที่พูดคือโดยส่วนตัวนะ คนอื่นเป็นไงผมไม่รู้ คือเราไม่ใช่ประเภทเช้าขึ้นมาฟาดเลยเพียวๆ แล้วกินต่อทั้งวัน เราไม่ถึงขนาดนั้น ก็อย่างที่เคยพูด เรามีเวลากำหนดชัดเจนว่าตอนไหนอ่านหนังสือตอนไหนเขียนหนังสือ จากนั้นถึงตอนเย็นๆ ค่อยว่ากัน อยู่อย่างนี้คนเดียวจะให้ทำอะไรล่ะ.. ก็เออ โซดาซักขวดสองขวด จิบแล้วก็เดินดูนั่นดูนี่ แต่ไม่ได้กินคนเดียวถึงขั้นเมาฟุบอ้วก

มันเป็นไปตามอายุนะของแบบนี้ สมัยก่อนเรากินหนักแล้วเมาเละเทะ แล้วไม่ยอมกินกับไม่ยอมกินข้าวมันถึงมีผลมาถึงตอนนี้ไง แต่ทุกวันนี้พยายามดูแลตัวเองเพราะร่างกายจะบอกว่าเราได้แค่ไหน ก็เหมือนที่พี่อาจินต์ (ปัญจพรรค์) แกว่าตอนเด็กๆ ก็ก้าวร้าว โตขึ้นเริ่มสุขุม พอบั้นปลายมันจะเมตตา...ตอนนี้เราถือว่าอยู่ในขั้นสุขุม (หัวเราะ)

+ดูเป็นชีวิตที่น่าอิจฉานะครับ มีบ้านกลางไร่ มีงานเขียนเป็นที่ยอมรับ ?

อย่ามองแค่ตอนนี้สิ คือคนแม่งก็พูดงี้...พี่ชาติมีรีสอร์ทกลางไร่ ผมบอกมึงไม่มาดูตอนที่กูมาอยู่แรกๆ เดี๋ยวเอารูปมาให้ดู (เดินเข้าไปในบ้านพักหยิบรูปถ่ายบ้านพักยุคแรกมาให้ดู...บ้านหลังนั้นตั้งโดดเดี่ยวกลางเขาหัวโล้น ผิดกับสภาพปัจจุบันลิบลับ)

มาใหม่ๆ ยังไม่มีโฟร์วีลต้องใช้โตโยต้าคันเก่า ถึงหน้าฝนรถเข้าไม่ได้สิทีนี้ ต้องจอดไว้หน้าทางเข้าเสร็จแล้วแบกกระติกใส่ผักใส่หมูที่ซื้อตุนไว้ บางวันทางแม่งก็ลื่น พอลื่นเราก็ล้ม ทำไงล่ะทีนี้กลัวของในกระติกหล่นกระจายเราก็อุ้มเอาไว้ ตัวก็ไหลพรืดลงมาข้างล่าง เจอแบบนี้บางทีมันอดถามตัวเองไม่ได้หรอกว่า....ทำไมมึงจะต้องลำบากลำบนขนาดนี้ (หัวเราะ)

มันก็เหมือนการพิสูจน์ตัวเอง ถ้าเราไม่ทนไม่ผ่านจุดนั้น เราถอดใจตั้งแต่ 2-3 เดือนแรก...ก็จะไม่มีวันนี้ มาอยู่แรกๆ ชาวบ้านแถวนี้ไม่มีใครเชื่อว่าเราจะอยู่ได้ แม่เรามาเยี่ยมยังบอกว่ากลับบ้านเถอะลูก เราตอบไงรู้มั้ย...คือเราก็โหด ตอบแม่ไปว่า ถ้าแม่จะให้ผมกลับ แม่ต้องเผาที่นี่ก่อน

งานเขียนหนังสือก็เหมือนกัน ผมถึงบอกว่าถ้าคุณทำอาชีพอิสระหรือทำงานศิลปะจริงๆ จังๆ ทำให้ต่อเนื่อง รับรองภายใน 20 ปีคุณต้องอยู่ได้ แต่มีข้อแม้ช่วงแรกต้องอดทนและรู้จักเรียนรู้ อย่าทำผิดพลาดในเรื่องซ้ำๆ ...ซึ่งเรื่องแบบนั้นคนฉลาดเขาไม่ทำกัน

Saturday, April 16, 2005 8:42:00 AM  
Anonymous Anonymous said...

เฮฮา สงกรานต์ สวัสดี !

งานหนังสือที่ผ่านมา ผมได้หนังสือเล่มใหม่ของแกมา (ชาติ กอบฯ) ชื่อหนังสือว่า "รับนวดหน้า" (หน้าปกมีนัยยะแฝง)

แวะมาเช็คชื่อ ... ขอตัวไปรดน้ำ(ต้นไม้)ก่อนน่ะ

Saturday, April 16, 2005 9:27:00 AM  
Blogger solitary animal said...

Aloha' P'R.Clinkaid

รดน้ำต้นไม้แล้ว อย่าลืมดายหญ้า พรวนดิน ใส่ปุ๋ยให้ต้นไม้ แล้วก็อาบน้ำให้ไอ้ตูบด้วยนะ

ปล. "บริการรับนวดหน้า" แสบๆ คันๆ มันส์ดี เราอ่านจบแล้วล่ะ ;-)

Saturday, April 16, 2005 9:57:00 AM  
Anonymous Anonymous said...

นั่น ๆ
ผู้ใหญ่รดน้ำต้นไม้ ดายหญ้าอาบน้ำเจ้าตูบกันหนุกหนาน

งั้น ข้าพเจ้าขอแวะมารดน้ำ ดำหัวผู้ใหญ่ทั้งสองหน่อยนะจ๊ะ เนื่องในวันปีใหม่
ขอคุณพระศรีรัตนตรัย จงดลบันดาลให้ท่านอายุมั่นขวัญยืน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ให้เด็ก ๆ นาน ๆ


ด้วยความเคารพและนับถือ

@^_^@
Roselle

Saturday, April 16, 2005 12:45:00 PM  
Anonymous Anonymous said...

Ho ho ho !!!

แก่เฒ่าจริงๆแล้วสิเรา ....

Saturday, April 16, 2005 3:20:00 PM  
Blogger solitary animal said...

ยอมรับว่าแก่เฒ่าแล้วจริงๆ หรือ...
ในนามของจิตวิญญาณอันโดดเดี่ยว (แต่ไม่เดียวดาย)ขอบอกว่า..."เรายังไม่ยอมจำนน" ฮ่าๆๆ

งั้นขอเชิญชวน K. Roselle มารับศีล รับพรจากผู้เฒ่า R.Clinkaid กันดีก่า...มาไวไวทางนี้เลยจ้า ;-)

I send you the huge huge love & hugs!
-S.A.

Sunday, April 17, 2005 9:32:00 AM  

Post a Comment

<< Home

Gabu on Facebook