Nation-Falling-Down
คิด-เห็น-เป็น-ต่าง
ลักขณา ปันวิชัย
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ เสาร์สวัสดี 1 เมษายน 2549
ชาติที่ตกใส่ตีน
ยุพาเป็นหญิงสาวอายุสามสิบ จบปริญญาตรี พ่อแม่เป็นมนุษย์เงินเดือนผู้เชื่อว่าเมื่อตนไม่มีมรดกพกสถานอะไรให้ลูกก็ควรให้การศึกษาที่ดีที่สุดเพื่อลูกจะได้มีเครื่องหาเลี้ยงตนได้สืบไป ยุพาทำงานเอกชน เสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฏหมายและได้รับบัตรทองสามสิบบาทรักษาทุกโรคโดยที่ผู้ใหญ่บ้านนำมาให้ ไม่แต่ยุพาจะได้รับบัตรทอง พ่อของยุพาที่เสียชีวิตไปแล้วหลายปีก็ได้บัตรทองกับเขาด้วย ยุพากับแม่หัวเราะกันเมื่อเห็นบัตรทองของพ่อ และส่ายหัวพลางเห็นพ้องต้องกันว่าระบบราชการของบ้านเราก็เป็นอย่างนี้แหละ จะเอาอะไรกันนักหนา (โดยที่ยุพากับแม่ไม่รู้หรอกว่าบัตรทองกับระบบราชการเกี่ยวข้องกันไหมอย่างไร ยุพาก็เหมือนคนไทยทั่วๆ ไปที่คิดแต่คำว่า ข้าราชการ กับคำว่า ประสิทธิภาพในการทำงานนั้นเดินคู่กันเป็นเส้นขนาน)
14 Comments:
ได้บัตรทองมาแต่เวลาเจ็บป่วย ยุพาไปโรงพยาบาลเอกชนยอมเสียเงินแพงๆ ด้วยจินตนาการเดิมๆ นั่นคือไม่เชื่อในบริการของโรงพยาบาลของรัฐ และยุพาก็มีเหตุผลที่ให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นมานั่นคือ ไม่อยากไปเบียดเบียนทรัพยากรอันจำกัดของรัฐ และยังมีคนที่จนกว่ายุพาอีกมากที่จำเป็นต้องใช้บริการจากบัตรทองจริงๆ เพื่อนเคยติงว่ายุพาก็เสียภาษีให้รัฐ ดังนั้นจึงมีความชอบธรรมทุกอย่างที่จะใช้บริการของรัฐ
ยุพาเก็บเอาคำพูดของเพื่อนมาคิด และรู้สึกว่าบางทีรัฐเอาภาษีของเราไปใช้ไม่เข้าท่าเท่าไร เช่น สร้างถนนใหญ่โตเกินไป (ที่คนไม่มีปัญญาซื้อรถก็ไม่ได้ใช้ แถมเวลาเดินยังถูกรถยนต์บีบแตรเสียงดังๆ ไล่อีก ร้ายไปกว่านั้น บางครั้งถนนยังถูกปิดเวลามีผู้ใหญ่ผู้โตเดินทางแล้วประชาชนอย่างยุพาก็ได้แต่ยืนรอทำตาปริบๆ) สร้างสวนสาธารณะ (ที่นึกไม่ออกเหมือนกันว่าอยู่ที่ไหนบ้าง) สร้างมหาวิทยาลัย (ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีสิทธิเรียน) หรือเอาทำโคมไฟเชยๆ ติดข้างถนน เอามาปั้ยรูปช้าง ม้า หรือพืชหน้าตาน่าเกลียด เช่น ลางสาด และทุเรียน ที่จังหวัดอุตรดิตถ์, ชามตราไก่ที่ลำปาง, คนโทยักษ์ที่หางดง ฯลฯ
ที่รบกวนความรู้สึกของยุพามากที่สุดคือ เมื่อเทศบาลตำบลของบ้านยุพาเอางบประมาณทำให้พื้นที่ริมคลองซึ่งเคยเป็นพื้นหญ้าและดงไม้ร่มรื่นกลายเป็นลานคอนกรีตขนาดมหึมาโดยอ้างว่าเป็นลานกีฬาของชุมชน แถมยังสร้างศาลาเอนกประสงค์เป็นอาคารที่ยุพาอยากรู้เป็นที่สุดว่าสถาปนิคและวิศวกรสังกัดเทศบาลตำบลนั้นเป็นจบมาจากที่ไหนเพราะเกิดมายังไม่เคยเห็นตึกอะไรอัปลักษณ์เช่นนี้มาก่อน
ยุพราคิดว่าโดยทฤษฎีแล้วตนเองสนับสนุนระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยและเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น แต่ตอนนี้รู้สึกสยดสยองต่อองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นและผู้นำที่ได้มาจากการเลือกตั้งของท้องถิ่นอย่างบอกไม่ถูก
แต่โดยทฤษฎีเราต้องมีขันติธรรมต่อความแตกต่างและรสนิยมที่แตกต่าง ยุพาพยายามบอกตัวเองอยู่เสมอ)
ยุพาชื่นชมกับแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนอย่างเช่นคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาพึงจะชื่นชม แต่ยุพาไม่ค่อยสบายใจเมื่อทุกๆ วันพระ ยุพาจะถูกปลุกให้ตื่นตั้งแต่ตีห้าด้วยเสียงของเจ้าอาวาสที่กระจายเสียงสวดมนต์ดังไปทั้งหมู่บ้านและตามด้วยการชักชวนให้ชาวบ้านเชื่อว่าการทำบุญกับการบริจาคเงินเข้าวัดมากๆ เป็นเรื่องเดียวกัน นอกจากเจ้าอาวาสก็ยังมีกรรมการหมู่บ้าน กรรมการวัด ผู้ใหญ่บ้านที่จะผลัดกันมาทักทานสมาชิกชุมชนผ่านเสียงตามสาย
แย่ไปกว่านั้นยุพาเชื่อว่าการอยู่ในชุมชนคือการแบ่งปันทรัพยากร คือการช่วยเหลือเกื้อกูลกันยามทุกข์ยาก ยุพาเกิดประตูบ้านเสมอ และบอกเพื่อนบ้านว่า ผักสวนครัวที่มีนั้นแบ่งกันกินได้ อยากได้อะไรเข้ามาเก็บไปอย่าเกรงใจกัน แล้วยุพาก็พบว่าเพียงไม่กี่วัน กะเพรา โหระพา ข่า ใบเตยที่ปลูกไว้ ถูกเพื่อนร่วมชุมชน เด็ด ถอน ขุด อย่างชนิดไม่เหลือให้เจ้าของได้ดมกลิ่น
วันดีคืนดี เพื่อนบ้านยุพานึกสนุกเปิดอู่เคาะ พ่นสีรถยนต์บนลานบ้าน ไม่มีโรงเรือน ไม่มีอาคารใดๆ มีแต่เสียงเคาะ และกลิ่นสีทินเนอร์คละคลุ้ง เหม็นจนแทบอาเจียน ร้ายไปกว่านั้นยังมีการเผากระป๋องเสปรย์เหล่านั้นเป็นระยะๆ ยุพาคิดว่าเธอเสียภาษีในฐานะพลเมือง เธอถูกเรียกร้องให้ไปเลือกตั้ง เธอเคารพกฏจราจร เมื่อเธอสร้างบ้านเธอขออนุญาตเทศบาล ยื่นแบบบ้านและแสดงระบบกำจัดน้ำเสียอย่างถูกต้อง แต่เมื่อใครสักคนมาถือวิสาสะเปิดอู่พ่นสีที่เหม็นบรรลัยอย่างนี้ใครจะรับผิดชอบต่อปอดของเธอ มีกฏหมายของเทศบาลตำบลหรือสุขาภิบาลที่ไหนเขียนไว้ไหมว่าการเปิดอู่ต้องขออนุญาต ต้องมีโรงเรือน อาคารที่ไม่เป็นพษต่อสิ่งแวดล้อม และมีระบบกำจัดขยะเคมีอย่างปลอดภัย
และถึงมีกฏหมายเช่นนั้นจริง ยุพาไม่เคยเชื่อมั่นว่า ‘กลไกทางกฏหมาย’ จะทำงานได้จริง แล้วยุพาก็นึกถึงเพื่อนที่มีคาราโอเกะเปิดข้างบ้าน ทำให้เพื่อนต้องฟังเสียงคาราโอเกะโหยหวนถึงตีหนึ่งตีสอง นึกถึงเพื่อนที่มีโรงงานทำน้ำยาล้างส้วมอันทำให้เพื่อนบ้านต้องดมกลิ่นเคมีรุนแรงอย่างทุกเมื่อเชื่อวัน ยุพาถามตัวเองว่าหากวันหนึ่ง หากเธอเป็นมะเร็งเพราะดมกลิ่นสีไปทุกวัน บัตรทองที่มีอยู่จะช่วยอะไรเธอได้บ้าง
ยุพาเริ่มรู้สึกว่ารัฐก็พึ่งไม่ได้ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็พึ่งไม่ได้ ชุมชนก็พึ่งไม่ได้ ทุกวันนี้คนในสังคมต่างก็ดิ้นรนที่จะพึ่งตัวเอง เพื่อนฝูงยุพาที่มีลูกก็ส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนเอกชน เรียนโรงเรียนทางเลือก ทำโฮมสคูล เรียนโรงเรียนอินเตอร์ทั้งนี้ก็แล้วแต่จริตของคนเป็นพ่อเป็นแม่ โรงเรียนรัฐ โรงเรียนประชาบาลที่มาจากภาษีประชาชนนั้นมีไว้สำหรับลูกเต้าของประชาชนที่ไม่มีทางลือก
รัฐและระบบราชการอันเป็นสิ่งรูปธรรมจับต้องได้ยังพึ่งไม่ได้ถึงเพียงนี้ ไม่ต้องพูดถึงคำว่า “ชาติ” ที่ทั้งล่องลอยและไร้ตัวตน ยุพายังสงสัยอยู่บ่อยๆ ว่า เวลาประกวดนางงามแล้วบอกว่านางสาวไทยหัวใจนั้นเขาดูกันที่ไหน หรือแอบไปควักล้วงหัวใจเอามาชั่งตวงหาสัดส่วนความเป็นไทยกันหลังเวที
ตอนนี้รอบๆ ตัวยุพาเต็มไปด้วยคำว่า 'กู้ชาติ' 'ขายชาติ' 'ช่วยชาติ' แถมคำที่หายไปนานก็กลับมา นั่นคือคำว่า 'แผ่นดิน' เช่น 'หนักแผ่นดิน' หรือ 'ขอเป็นยามเฝ้าแผ่นดิน' (ชวนให้นึกถึงตำนานประเภทต้องหาคนชื่อมั่น ชื่อคง มาฝังไว้ที่เสาหลักเมือง) ยุพานั่งดูทั้งฝ่ายขายชาติและฝ่ายกู้ชาติ ยุพายิ่งรู้สึกว่าตัวเองไม่รู้จักทั้งสองฝ่าย เกิดมาก็ไม่เคยเห็นกัน ไม่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุข ทั้งไม่อาจหาอัตลักษณ์อะไรมาแชร์กับคนทั้งสองฝ่ายได้
ยุพาก็เป็นแค่ผู้หญิงโสด เสียภาษีตามหน้าที่ เคารพกฏจราจร ฝากอนาคตไว้กับบริษัทประกันชีวิต ฝากความปลอดภัยในชีวิตไว้กับสัญญาณกันขโมย ยุพาคงจะลืมนึกถึงสิ่งที่เรียกว่า 'ชาติ' ไปเสียสนิท ถ้าไม่มีการแข่งขันโอลิมปิคทุกๆ สี่ปี สำหรับ ชาติ ต่างๆ เข้ามาแข่งขัน ถึงตอนนั้น เบ็คแฮมจะกลับจากสเปนมาเล่นฟุตบอลให้ทีมชาติอังกฤษ (หรือเปล่านะ?)
ยุพารู้สึกเหมือนกับว่าชาติที่เคยมีอยู่อย่างเร้นลับ (เหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราไม่เคยเห็นด้วยตาแต่เชื่อว่ามีจริง) อยู่ๆ ก็มาตกใส่ตีน ทั้งเจ็บทั้งตกใจ ทั้งไม่มั่นใจว่าควรจะเก็บมันขึ้นมาแล้วทะนุถนอมดูแลหรือจะเขี่ยมันไปให้พ้นทาง( ตีน)ดี
***
ไม่รู้ว่า K.ลักขณา ปันวิชัย ต้องการจะบอกอะไรบ้างน่ะ...แต่อ่านจบแล้ว...หดหู่จัง...
ปล: ตกใส่ตีนจังๆ
Oct.Comrade...
เห็นด้วยกับข้อความที่ว่า
"ยุพาคงจะลืมนึกถึงสิ่งที่เรียกว่า 'ชาติ' ไปเสียสนิท"
ขออนุญาตมองต่างมุม
อ่านแล้วรู้สึกว่า อะไรๆรอบตัวยุพาต่างก็เลวร้ายไปหมด ยกเว้นตัวยุพาเอง
รู้สึกเหมือนว่า ยุพา พยายามทำทุกๆอย่างตามกฎ พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด แต่สิ่งรอบตัวนั้นมันเลวร้ายเกินจะเยียวยา และค่อยๆคืบคลานเข้ามารวบกวนชีวติและความสงบสุขของยุพา
มันเป็นเช่นนั้นจริงๆหรือ?
มันอาจจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือมันอาจจะเป็นอย่างอื่นก็ได้
แต่เท่าที่อ่านมา สงสัยนิดนึงว่า นอกจากการเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย เคารพกฏจราจร ไม่รบกวนสวัสดิการของรัฐหากตัวเองมีปัญญาจ่าย
ยุพาทำสิ่งใดมากไปกว่านั้นบ้า่ง ในการผลักดันในสิ่งที่เป็นสิทธิและเสรีภาพของเธอ ในอันที่จะผลักดันความคิดและความต้องการของเธอ
บางทียุพาอาจจะทำ
แต่นอกเหนือไปจากสิ่งที่เีรียกว่าสิทธิที่ตัวเธอพึงมีพึงได้ หากยุพาจะมองไปรอบตัว ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า สิทธิอันพึงมีพึงได้ของคนอื่นที่เรียกว่าคนด้อยโอกาสเช่นกัน สิ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องปรกติของยุพา เช่น มีรถขับเพื่อให้เธอสามารถพูดได้ว่าเคารพกฎจราจร หรือมีรายได้เหลือพอที่จะสามารถทำประกันชีวิต ล้วนเป็นสิ่งที่คนอีกมากในสังคมไม่มีโอกาสแม้แต่จะคิดมี
อ่านแล้วรู้สึกขึ้นมาว่า
ที่สังคมกำลังแตกเป็นเสี่ยงๆ
ที่นโยบายประชานิยมยังขายได้ ขายดี ขายเทน้ำเทท่า
ช่องว่างระหว่างคนรวย คนจน คนมีความรู้ คนรากหญ้า กำลังห่างออกไปเรื่อยๆ
อาจเป็นเพราะบางครั้ง
คนอย่างเราๆ (รวมถึงข้าพเจ้า) นั่นแหละที่มีส่วน
คนอย่างเราๆที่คิดว่า แค่ทำมาหากิน ทำตามกฎหมาย ก็โอเคแล้ว แต่ลืมนึกถึงคนรอบข้าง
เราไม่เคยหยิบยื่นอะไรให้กับคนอื่นๆ
เรากันตัวเราเองออกห่างจากคนเหล่านั้น
เราบอกว่าเขาโง่ เขาจน เขาไม่ได้รับรู้ข้อมูลอย่างเรา
แต่เราทำอะไรให้แก่เขาเหล่านั้นบ้าง
นอกจากแบ่งแยก เราและเขาเหล่านั้น ออกจากกัน
เหลือแต่ตัวเราเอง ลูกเรา เมียเรา เงินเรา หน้าที่การงานเรา
สุดท้ายก็ไม่แปลกที่ยุพา (และเราๆทั้งหลาย)จะนึกไม่ออก ว่าชาติแปลว่าอะไร หมายถึงใคร ประกอบด้วยกลุ่มคนใดบ้่าง
เรานึกไม่ออก เพราะเราไม่อยากนึก
เราไม่อยากสนใจ
เรานึกออกเพียงว่า เราอยากอยู่อย่างสงบ
อยากหลับหูหลับตา อยากทำมาหากิน
อยากทำตามกฎหมาย
แค่อยากรวยขึ้นเหมือนใครบางคน(ที่หากินตามกฎหมาย?)
เราสนใจเพียงแค่ว่า เราจะได้อะไร และเราจะเสียอะไร
เราหงุดหงิด คับข้อง รำคาญใจ
หากมีใครมารบกวนการนอนหลับอย่างสงบของเรา
เราเบื่อหน่าย กับคนกลุ่มนั้น คนกลุ่มนี้
เราอยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน
ให้ตายเหอะยุพา (ขออภัยที่หยาบคาย)
แต่ที่ผ่านมา
เราเคยทำแบบนี้กันจริงๆหรือ?
ขอแสดงความเห็นหน่อย
เราว่าการร่างกม.กับการบังคับใช้มันไปไม่ทันกัน ถ้ามีกม.แต่เราผู้เป็นผู้เสียหายไม่ออกมาใช้สิทธิ์เมื่อถูกละเมิด กม.มันก็ไม่เกิดสภาพบังคับ มันก็เป็นปัญหาไก่กับไข่นั่นแหละ ยุพาคงต้องทำอะไรมากว่า..ทนอยู่เฉยนะเราว่า
blue sea
ก่อนอื่นต้องบอกว่ารู้สึกยินดีมากๆ เลยที่ได้ฟังมุมมองที่แตกต่าง เราว่าถ้าคุณลักขณา ปันวิชัยได้รับรู้ เธอคงยินดีเช่นกัน (ชื่อคอลัมน์ของเธอก็บอกแล้ว คิด-เห็น-เป็น-ต่าง)และที่สำคัญคือไม่รู้สึกว่ามีความหยาบคายในการแสดงความคิดเห็นข้างบนเลยซักนิดค่ะ
โดยส่วนตัวเราคิดว่าสิ่งที่คุณลักขณา (หรือ 'คำ ผกา' หรือ 'ฮิมิโตะ ณ เกียวโต') สื่อสารออกมาผ่านมุมมองของ สาวโสดวัยสามสิบอย่างยุพานั้น มันก็สะท้อนอะไรเยอะแยะของภาวะของสังคมไทยในปัจจุบันนี้ เราชอบจริงๆ ที่เธอบอกว่า ยุพาคงจะลืมนึกถึงสิ่งที่เรียกว่า 'ชาติ' ไปเสียสนิท
แต่ก็ยิ่งเห็นด้วยมากไปอีกเมื่อได้อ่านข้อความข้างบนค่ะ
ยุพาทำสิ่งใดมากไปกว่านั้นบ้า่ง ในการผลักดันในสิ่งที่เป็นสิทธิและเสรีภาพของเธอ ในอันที่จะผลักดันความคิดและความต้องการของเธอ
ทำให้เราต้องเริ่มตั้งคำถามกะตัวเองอย่างจริงจังค่ะ ว่าการดำรงอยู่ของเรานั้นได้ก่อให้เกิดคุณค่าสาระอะไรต่อผู้คนด้อยโอกาสที่มีอยู่มากมายในสังคมบ้าง เราอาจได้ทำบ้าง แต่มันอาจแค่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ หรือไม่ใช่สิ่งที่ยิ่งใหญ่พอที่ถูกนำมายกย่องหรือเปล่า? หรือแท้ที่จริง เรายังมีความเห็นแก่ตัวและอ้างเพียงเหตุผลเดิมๆ ว่า 'เราก็ทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น อย่าทำตัวเอง ครอบครัว หรือคนที่คุณรักเป็นปัญหาของสังคมก็ดีแล้ว' แค่นั้น? แค่นั้นจริงๆ เหรอ?
เรายังตอบคำถามนี้กับตัวเองไม่ได้เลยค่ะ แต่เราเชื่อว่าแค่ทำมาหากินและทำตามกฏหมาย คงไม่พอหรอก แต่ว่าใครจะทำอะไรมากกว่านั้น ก็ขึ้นอยู่กับแนวทางความเชื่อและจริตของแต่ละคน แต่โดยส่วนตัวเราคิดว่าถ้าทุกคนในสังคมเริ่มต้นง่ายๆ โดยการไม่เบียดเบียนคนอื่น สังคมเราคงน่าอยู่ขึ้นมากเลย ว่ามั๊ย?
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาแชร์ความคิดเห็นจ้า ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนมุมมองด้วยกัน เคารพทุกความ คิด-เห็น-เป็น-ต่าง ค่ะ
อย่างน้อยวันนี้เราได้อะไรๆ ดีกลับไปถกกับตัวเองต่อแล้วล่ะ :)
Hi! Just want to say what a nice site. Bye, see you soon.
»
Post a Comment
<< Home