The Path Towards Bo Glua
คัดมา-
แม่น้ำน่านได้แผ่ความสมบูรณ์สู่พื้นราบกลาง ผู้คนได้อาศัยลำน้ำในการดำรงชีวิตทั้งอุปโภคและบริโภค วัฒนธรรมหลากหลายได้เกิดขึ้นกับชุมชนใหญ่น้อยที่สายน้ำนี้ไหลผ่าน
ภาพภูเขาสูงตระหง่านยามเราท่องลำธารเล็กๆ ตามหุบเขา ภาพเมฆหมอกคลอเคลียทิวเขาสลับซับซ้อนไกลสุดสายตา ยามเราอยู่บนยอดดอย ภาพไร่นาเรือกสวนตามเส้นทางเมื่อเราเดินทาง ล้วนเน้นย้ำภาพของการรวมตัวของลำน้ำน่าน
ภาพความงดงามบริสุทธิ์ของทิวเขา คุณความดีของแม่น้ำน่านต่อผู้คนในแผ่นดินเป็นสำนึกและความภูมิใจที่ก่อให้เกิดภาพเขียนชุดนี้
ภาพภูเขาสูงตระหง่านยามเราท่องลำธารเล็กๆ ตามหุบเขา ภาพเมฆหมอกคลอเคลียทิวเขาสลับซับซ้อนไกลสุดสายตา ยามเราอยู่บนยอดดอย ภาพไร่นาเรือกสวนตามเส้นทางเมื่อเราเดินทาง ล้วนเน้นย้ำภาพของการรวมตัวของลำน้ำน่าน
ภาพความงดงามบริสุทธิ์ของทิวเขา คุณความดีของแม่น้ำน่านต่อผู้คนในแผ่นดินเป็นสำนึกและความภูมิใจที่ก่อให้เกิดภาพเขียนชุดนี้
----
1 Comments:
คัดมา : จุดประกายวรรณกรรม วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2548
ครูของแผ่นดิน
ถวัลย์ มาศจรัส
วินัย ปราบริปู ต้นตำนานแหล่งเรียนรู้หอศิลป์ริมน่าน
ผมได้ยิน ได้รับรู้ ได้สัมผัส ถึงการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของ วินัย ปราบริปู มานานพอสมควร แต่ก็ยังไม่เคยพบปะเจอะเจอตัวจริง เสียงจริงของเขาแต่ประการใด เพิ่งจะพบกับเขาเมื่อต้นๆ เดือนธันวาคม ที่กรุงเทพฯ นี่เอง
ความจริงแล้ว ผมได้ทำงานร่วมกับ ผู้อำนวยการปรานี ปราบริปู ผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทย หญิงสาวของ วินัย ปราบริปู อยู่บ่อยครั้ง และก็เคยรับรู้ถึงกิจกรรมการสร้างหอศิลป์ริมน่านของวินัยอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่เคยไป ก็ราวๆ เดือนมกราคม 2549 ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็จะติดตามคณะของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการ ไปร่วมประชุม ศึกษาดูงานที่จังหวัดน่าน กะว่าจะพาคณะเลย ไปดูหอศิลป์ริมน่านของวินัยสักครึ่งค่อนวัน
ที่ผมหยิบยกเรื่องนี้มาคุยช่วงเดือนสุดท้ายของปีเก่า (ที่เคยใหม่) ในเดือนธันวาคมนี้ ก็เพราะได้รับจดหมาย และคำถามผ่านเวทีการสัมมนาต่างๆ ที่ไปร่วมถกแถลงว่า ระยะหลังๆ นี่ ไม่เห็นผมเขียนถึงคนที่ทำงานศิลปะตามหัวเมืองต่างๆ บ้างเลย
บางท่านกระเซ้าเอาแรงๆ ว่า ผมละและลืมเหล่าศิลปินชายขอบไปแล้วหรือ
ก็ไม่ใช่หรอกครับ เพราะในช่วงหลังๆ มานี่ก็คุยกับ บก.นิรันศักดิ์ บุญจันทร์ ซึ่งท่านสนใจเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่นมากเป็นพิเศษและได้กำหนดขอบข่ายว่า น่าจะเน้นเรื่องผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมท้องถิ่นเพื่อปลุกกระแสกันสักหน่อย
ผมก็เลยเน้นไปทางด้านนั้น นานๆ ก็แวะไปเยี่ยมเยียนศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานอยู่แถวหัวเมืองมาเผยแพร่สักคราวหนึ่ง...มิใช่นำมาเผยแพร่เพื่อเป็นน้ำจิ้มแต่อย่างใดนะครับ
หากแต่นำมาเผยแพร่ให้เห็นสีสันของศิลปินที่มุ่งทำงานเพื่อท้องถิ่นของตนอยู่เงียบๆ และไร้ข่าวคราว เรียกว่าเป็นคนที่ เล็กในข่าว แต่ โตในผลงาน ว่างั้นเถอะ
สำหรับบทสรุปทิศทางเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่นและแนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้น ต้นปีใหม่จะได้เห็นภาพรวมกันละครับ
แย้มไว้นิดๆ ก็ได้ว่า คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชนของรัฐสภา เขาก็สนใจและเริ่มเวิร์คงานไปบ้างแล้ว...รออ่านก็แล้วกันครับ
ย้อนกลับมาถึงเรื่องของ วินัย ปราบริปู กันต่อ
ณ เวลานี้ การที่ศิลปินสักคน จะลุกขึ้นมาสร้างหอศิลป์เพื่อหวังจะนำความสุนทรีย์ไปเผื่อแผ่ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงรากเหง้าแถวย่านบ้านของตน และรับรู้ถึงการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในสังคมยุคนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวนั้น ต้องนับถือความคิดของศิลปินคนนั้นอย่างเอกอุทีเดียว
เน้นครับว่า ต้องนับถือความคิดของเขาอย่างเอกอุ
ที่กล่าวเช่นนี้ ก็เพราะวัฒนธรรมและรสนิยมด้านศิลปะของเรานั้น ยังตามหลังรสนิยมเรื่องอื่นๆ อยู่ค่อนข้างมาก พูดลึกๆ ไปแล้ว กะเดี๋ยวจะไปพาดพิงถึงการบ่มเพาะภูมิปัญญาด้านศิลปะของกระทรวงศึกษาธิการเข้า จะทำให้เรื่องที่กำลังยุ่งๆ นุงนังหนักเข้าไปอีก
ด้วยเหตุนี้ เมื่อ วินัย ปราบริปู ใช้ที่ดินแปลงสวย และมากราคา จำนวนกว่า 13 ไร่ ติดแม่น้ำน่าน ตรงหลักกิโลเมตรที่ 20 ของถนนสายน่าน-ท่าวังผา เป็นหอศิลป์สองชั้น ชั้นบนเป็นที่แสดงผลงานของวินัยเอง ส่วนชั้นล่างเป็นที่จัดนิทรรศการของศิลปินรับเชิญ จึงเป็นความคิดที่ไม่ธรรมดา
ถ้าศิลปินไม่พร้อมที่จะอุทิศตนให้สังคมแล้ว ทำไม่ได้หรอกครับ ไหนจะค่าบำรุงดูแลรักษา ไหนจะรายได้ที่รู้ๆ กันอยู่ว่า หอศิลป์มิใช่เวทีคอนเสิร์ตของศิลปินนักร้องที่ผู้คนแห่ซื้อบัตรไปเยิ้วๆ แทบจะเหยียบกันตาย เสียเมื่อไหร่
แต่ความตั้งอกตั้งใจของวินัยนั้น น่าจดจารึกไว้เป็นใบแทรกประวัติศาสตร์ของศิลปินจากหัวเมืองไว้ต่อไปในอนาคต
วินัย ตั้งใจว่า เขาสร้างหอศิลป์ริมน่านไว้ก็เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ และส่งเสริมการเรียนรู้ศิลปะของประชาชน นักเรียนนักศึกษา
ต้องขีดเส้นใต้เก้าเส้นไว้ตรงประโยค ส่งเสริมการเรียนรู้ศิลปะของประชาชน นักเรียนนักศึกษา ที่รัฐมนตรี จาตุรนต์ ฉายแสง น่าจะแวะเวียนไปเยี่ยมเยือนบ้างก็ดี ถ้าไปในช่วงมกราคมก็จะยังได้ทันเห็นนิทรรศการศิลปกรรมร่วมสมัย 'ความประทับใจกับภาพเหมือนจริง' ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินไทย 30 คน ที่เข้ามาร่วมแสดงงานในครั้งนี้
บันทึกสิ่งงามๆ ทั้งผลงานและความคิดของ 'วินัย ปราบริปู' ให้ปรากฏไว้เป็นใบแทรกประวัติศาสตร์ทางความคิดของศิลปินคนหนึ่งที่เกิดมาแล้วตอบแทนคุณแผ่นดินถิ่นเกิดด้วยผลงานศิลปะของตน
Post a Comment
<< Home