ปัจจุบันเขาเป็นเอ็นจีโอสายพัฒนาที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในญี่ปุ่น เคยได้รับรางวัลจาก Japan Foundation ในฐานะผู้ทำประโยชน์แก่ชุมชนและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และเป็นต่างชาติคนแรกที่ได้รับรางวัล Memorial Labor Model จากรัฐบาลลาว ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนการพัฒนาศึกษาในลาว ทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษที่บรรยายเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ
7 Comments:
วันนี้ได้อ่านสกู๊ปน่าสนใจอันนึงในนสพ.ประชาชาติธุรกิจ เลยอยากหยิบมาแชร์กัน
เค้าเริ่มต้นว่า...ถ้ามีคนตั้งคำถามว่า เงินเท่าไหร่ถึงจะทำให้คุณสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิต...บางคนอาจพูดถึงเงินก้อนโต อาจเป็นหลักร้อยล้าน พันล้าน แต่สำหรับนักพัฒนาชาวญี่ปุ่นวัย 60 ปี "เทรุมาสะ อะคิโอะ" เค้าเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตทั้งชีวิตมาสู่เส้นทางพัฒนาสาย NGO เนื่องมาด้วยแรงบันดาลใจจากเงินเพียง 10 บาท...
อ่านเรื่องราวของเค้าแล้ว ประทับใจมากๆ เลย เดี๋ยวจะคัดมาให้อ่านกัน !
:)
right here waiting for you(r post)! :)
Special for Usa-san :)
-คัดมา-
วันที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3843 (3043)
ถอด "ดีเอ็นเอ" การให้ "เทรุมาสะ อะคิโอะ"
คอลัมน์ ประชาชาติ exclusive
ถ้ามีคนตั้งคำถามว่า เงินเท่าไหร่ถึงจะทำให้คุณสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิต บางคนอาจพูดถึงเงินก้อนโต อาจจะเป็นหลักร้อยล้าน พันล้าน แต่สำหรับนักพัฒนาชาวญี่ปุ่นวัย 60 ปี "เทรุมาสะ อะคิโอะ" ที่เกิดและเติบโตบนแผ่นดินญี่ปุ่น จากมนุษย์เงินเดือนธรรมดาๆ เขากลับเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตทั้งชีวิตมาสู่เส้นทางสายพัฒนาโดยสวมหมวกเอ็นจีโอ ด้วยแรงบันดาลใจจากเงินเพียงแค่ 10 บาท ที่แม่เฒ่าคนหนึ่งมอบให้เขาระหว่างที่มีโอกาสเดินทางมายังประเทศไทยเมื่อราว 40 ปีก่อน
และเป็นแรงบันดาลใจให้อีก 20 ปีหลังจากนั้น (ปี 2530) เขาตั้งมูลนิธิที่ชื่อว่ากองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา (Education Development Foundation : EDF) ที่จนถึงวันนี้สามารถระดมทุนจากญี่ปุ่นสู่ไทยรวมแล้วเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท มีโอกาสช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจนโดยให้ทุนการศึกษาไปแล้วกว่า 2 แสนคน และวันนี้กำลังขยายความช่วยเหลือเพิ่มเติมไปยังลาว กัมพูชา และอัฟกานิสถาน ภายใต้เครือข่ายกองทุนการศึกษาดารุณี
ปัจจุบันเขาเป็นเอ็นจีโอสายพัฒนาที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งในญี่ปุ่น เคยได้รับรางวัลจาก Japan Foundation ในฐานะผู้ทำประโยชน์แก่ชุมชนและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และเป็นต่างชาติคนแรกที่ได้รับรางวัล Memorial Labor Model จากรัฐบาลลาว ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนการพัฒนาศึกษาในลาว ทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษที่บรรยายเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ
"ประชาชาติธุรกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์
"เทรุมาสะ อะคิโอะ" ตอนบ่ายแก่ๆ วันหนึ่งที่มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา ที่นั่งตรงหน้าคือชายชราที่ยังดูแข็งแรงกระฉับกระเฉง สายตามุ่งมั่นและดูเปี่ยมสุข เขาเพิ่งเดินทางกลับมาจากกัมพูชา ประเทศที่มูลนิธิกำลังลงไปปักธงรุกให้ความช่วยเหลือการพัฒนาการศึกษา
ด้วยปรัชญาความเชื่อที่ว่า education for all ที่หมายความถึงว่าทุกคนมีสิทธิที่ได้เรียนและเชื่อว่าการศึกษาคือโอกาสในการไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น !!
..........
"ในสมัยก่อนมีอาณาจักรหนึ่งในญี่ปุ่นล่มสลาย คนอดอยาก อีกอาณาจักรหนึ่งเลยส่งข้าวสารมาช่วย 100 กระสอบ ผู้ปกครองของที่นั่นเลยตัดสินใจเอาข้าวสารไปขายให้กับอาณาจักรข้างๆ ทำให้ซามูไรที่คุมอยู่ไม่พอใจ และจะฆ่าผู้ปกครองอาณาจักร แต่ผู้ปกครองบอกว่า จะฆ่าก็ได้แต่ขอให้ฟังเหตุผลก่อน เขาบอกว่าข้าวสาร 100 กระสอบ ถ้าจะแบ่งให้คนในอาณาจักรกินกันทั้งหมดก็อาจจะอยู่ได้แค่ 5 วัน และที่อาณาจักรแห่งนี้คนไม่มีคุณภาพ ผู้ปกครองเลยขายข้าวสารและนำเงินมาสร้างโรงเรียนเพื่อที่จะสร้างให้คนของเขามีคุณภาพ เมื่อเด็กมีคุณภาพก็จะมีอนาคตเพื่อที่จะทำให้คนของเขามีกินมีใช้ได้ตลอด"
ฟังดูคล้ายๆ กับปรัชญา "การให้" ที่ได้ฟังเสมอที่ว่า "ถ้าให้ปลาเขากิน เขากินอิ่มเพียงวันเดียว แต่ถ้าสอนเขาจับปลา เขาจะมีกินไปตลอดชีวิต"
ปรัชญาเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาและเข้ามามีโอกาสช่วยเหลือ "เด็กไทย"
ในระหว่างที่กลับไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นหลังจากไปเรียนและทำงานยังสหรัฐอเมริกา เขาทำโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน โดยนำนักศึกษาต่างชาติที่อยู่โตเกียวมายังเกาะฮอกไกโดตอนใต้ และที่นั่นเองเขาได้รู้จักกับ "ศักดา ศรีสังคม" หนึ่งในนักเรียนแลกเปลี่ยนที่นำพาเขามารู้จักกับภาคอีสานของไทย
เขาเล่าว่า ระหว่างที่นั่งเรือนำนักเรียนแลกเปลี่ยนไปยังเกาะฮอกไกโด ได้ยินเสียงเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่ทำจากไม้ไผ่ ที่รู้ตอนหลังว่าเป็น "แคน" เป็นเสียงดนตรีที่รู้สึกทั้งตื่นเต้นและเศร้าได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้เขาหยุดฟังและมีโอกาสเข้าไปคุยกับนักเรียนต่างชาติคนนั้น
"เป็นเรื่องแปลกที่ส่วนใหญ่เวลาที่คุยกับเด็ก เด็กก็มักจะคุยเรื่องตัวเอง แต่กับศักดา กลับคุยแต่เรื่องเมืองไทยและบอกว่า ที่พาไปดูรากหญ้าที่ฮอกไกโดนั้นเขาอยากให้มาเห็นรากหญ้าของไทยว่าเป็นอย่างไร"
วันหนึ่ง "อะคิโอะ" จึงเดินทางมาเยือนอีสานตามคำเชิญของ "ศักดา ศรีสังคม" โดยเดินทางมาที่ จ.อุดรธานี
"เมื่อมาถึงอีสานครั้งแรกทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าได้กลับไปบ้านเกิด เพราะแม้จะเกิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีความอดอยากมาก แต่หลังจบมหาวิทยาลัย เศรษฐกิจญี่ปุ่นก็เจริญเติบโตมาก สิ่งที่แลกมากับความเจริญเติบโตคือการสูญเสียความเป็นชุมชน แต่ที่อีสานมันเหมือนกับเมื่อ 20 ปีก่อน ทำให้ผมและคนญี่ปุ่นที่มาอีสานระลึกเหมือนกับว่าเราได้กลับบ้านเกิด"
"ตอนที่มาถึงผมเป็นต่างชาติคนแรกที่มาที่หมู่บ้าน ตกเย็นเลยมีพิธีบายศรีสู่ขวัญ เจอเด็กผู้หญิงคนหนึ่งมานั่งตัก ตอนเช้ารุ่งขึ้นอีกวันได้เดินทางไปเยี่ยมโรงเรียน เห็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเดินตามมา พอเรียกมาเดินด้วย ก็ไม่ยอมมา แต่ก็เดินตามตลอด เมื่อไปเยี่ยมชั้น ป.1 สังเกตว่าเห็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งมองมาที่ผม ก็จำได้ว่าเป็นเด็กคนเดียวกับที่นั่งตักเมื่อวานและเป็นเด็กคนเดียวกับที่เดินตาม ถามชื่อกับครู ครูบอกว่าเด็กผู้หญิงคนนั้นชื่อ ดารุณี"
"หลังจากกลับจากโรงเรียนมีชาวบ้านมาคุยกับศักดาว่า มีลูกเรียนเก่งมากแต่คงไม่มีโอกาสเรียนต่อเพราะการศึกษาภาคบังคับตอนนั้นมีแค่ชั้น ป.6 ศักดาเลยบอกว่า จะช่วยเหลือโดยการให้เงิน 10,000 เยน ผมเห็นศักดาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนรู้ว่าไม่น่ามีเงินมาก จึงถามว่าแล้วจะไหวหรือ ที่จะจ่ายให้เด็กทุกเดือน แต่ศักดาบอกว่า 10,000 คือค่าเล่าเรียนทั้ง 1 ปี ตอนนั้นผมเลยเอาเงินสมทบอีก 10,000 เยน"
ด้วยความประทับใจเด็กผู้หญิงที่พบทำให้เขานำชื่อเด็กผู้หญิงคนนั้นมาตั้งเป็นชื่อว่า "ทุนดารุณี"
จากนั้นเมื่อกลับถึงญี่ปุ่นจึงระดมเงินจากเพื่อนชาวญี่ปุ่นและส่งเงินกลับมาได้ครั้งแรกถึง 41 ทุน ด้วยความไม่มั่นใจว่าเงินจะถึงมือเด็กหรือไม่ จึงได้มีโอกาสกลับมาที่อีสานอีกครั้ง และพบกับเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง 10 คนที่ได้รับทุน แต่ก็อดแปลกใจไม่ได้ว่าทำไมเด็กๆ เหล่านี้ร้องไห้
"เด็กๆ บอกว่าที่ร้องไห้เป็นเพราะเสียใจ เนื่องจากตัวเองได้รับทุนได้เรียนหนังสือ ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่มีเพื่อนอีกจำนวนมากต้องไปทำงานโรงงาน และเอารายชื่อเพื่อนมาให้ดู ซึ่งทำให้ประทับใจมิตรภาพที่เด็กมีต่อเพื่อน ในขณะที่หลานของผมเวลานั้นอยู่ ป.3 เขียนเรียงความว่าพอตกเย็นจะต้องไปเรียนพิเศษ เพื่อจะได้เรียนโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงและเข้ามหาวิทยาลัยที่ดี หลานผมเขียนชื่อเพื่อน 3-4 คนตอนท้ายเรียงความว่า พวกนี้ไม่สามารถจะเข้ามหาวิทยาลัยดีๆได้เพราะมัวเล่นด้วยกัน ผมคิดว่าหลานผมมีเพื่อนไม่ได้เพราะเขาคิดถึงแต่ตัวเอง แต่เด็กพวกนี้ไม่ใช่ ที่มากกว่านั้นก็คือภาพความแตกต่าง ระหว่างเด็กญี่ปุ่นกับเด็กไทย สำหรับเด็กญี่ปุ่นในเวลานั้นเงิน 10,000 เยน มีค่าแค่ซื้อเกมนินเทนโดซึ่งกำลังฮิตมากในตอนนั้นมาเล่น ขณะที่เด็กไทยที่พบเงิน 10,000 เยน กลับสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิต"
และนี่เป็นความประทับใจที่ทำให้รู้สึกว่า ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงชีวิต
"การได้พบเด็กทั้ง 10 คนนั้น ทำให้ผมเริ่มคิดถึงชีวิตของตัวเองอย่างลึกซึ้งเลยว่า ระหว่างเด็ก 41 คนกับตัวเองอะไรสำคัญกว่ากัน และพบว่าชีวิตเด็ก 41 คนสำคัญกว่า แต่สิ่งที่ผมทำมันเป็นแค่งานอดิเรกในการหาทุน ดังนั้นจึงตัดสินใจว่านี่จะไม่ใช่งานอดิเรกอีกต่อไป แต่งานช่วยเหลือเด็กจะต้องเป็นชีวิตแล้ว"
.........
...ครั้งนั้นทำให้เขาย้อนกลับไปคิดถึงชีวิตครั้งหนึ่งที่เคยได้เดินทางมาไทย สมัยวัยหนุ่มซึ่งตอนนั้นลำบากมากเพราะเงินหายหมด แต่มีผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นแม่ของเด็กที่พาเขาไปพักพิงที่บ้าน หยิบยื่นเงิน 10 บาทให้เขาทั้งที่ตัวเองยากจน เขาจึงคิดว่า "ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องจ่ายเงิน 10 บาทนั้นคืนให้คนไทย"
"หลังจากจบมหาวิทยาลัย ผมเริ่มทำงาน ทุกคนทำงานหนักเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ผมคิดว่าไม่อยากรับเงินเดือนไปตลอดชีวิต เลยใช้เงินทั้งหมดที่มีซื้อตั๋วเรือมายังสิงคโปร์ ซึ่งต้องผ่านฮ่องกง มะนิลา กรุงเทพฯ ก่อนไปถึงสิงคโปร์ ตอนนั้นยังหนุ่มอยู่และคิดอยากจะผจญภัยจึงไปที่อินโดนีเซียโดยไปอยู่กับชนเผ่าพื้นเมืองไดยะและโดนจับ จากนั้นจึงเดินทางมาไทยผ่านทางใต้ โชคร้ายที่เงินหายหมดระหว่างทาง จากที่เคยนอนโรงแรมเลยต้องอาศัยถุงนอนนอนข้างทาง ระหว่างนั้นมีเด็กเข้ามาหาและพาไปที่บ้าน แม่เด็กก็ชวนกินข้าวและชวนนอนที่บ้าน หลังจากนั้นพอบอกว่าจะมากรุงเทพฯ แม่ของเด็กก็นำเงินมาให้ 10 บาท ผมปฏิเสธเพราะรู้ว่าครอบครัวเขายากจน ซึ่งไม่ใช่แต่ครอบครัวนี้เท่านั้น ต่อมาก็พบอีกหลายครอบครัวที่ปฏิบัติต่อผมเช่นเดียวกัน"
"ผมเลยมาคิดว่า เพราะอะไรชาวบ้านถึงทำแบบนี้ ทำให้เริ่มคิดถึงความยากจนของพวกเขา และคิดว่าชาวบ้านที่นี่ใจดีกว่านักธุรกิจที่เจอมาและทำงานด้วยที่ญี่ปุ่นเสียอีก ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนมีการศึกษาแต่ชาวบ้านเป็นชาวนา มันเป็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ไม่เคยได้พบ"
และเป็นความประทับใจใน "น้ำใจ" คนไทยที่ทำให้เมื่อวันหนึ่งเขาคิดว่าถึงเวลาต้องตอบแทน !!
.........
...เมื่อเริ่มต้นทุนดารุณีในช่วงแรก ในช่วงที่ยังทำงานในฐานะมนุษย์เงินเดือน สิ่งที่ทำควบคู่กันไปคือการทำโครงการ Exchange Japan ซึ่งเป็นโครงการนำนักศึกษาปริญญาตรีไปสอนภาษาญี่ปุ่นในมหาวิทยาลัยสหรัฐอเมริกา โดย "อะคิโอะ" เข้าไปเจรจากับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งในเวลานั้นแทบยังไม่มีคนรู้จัก "ญี่ปุ่น" เขาจึงสนับสนุนให้เปิดคอร์สภาษาญี่ปุ่น กลยุทธ์ของเขาคือเขาจะเป็นคนจัดหานักศึกษาปริญญาตรีที่มีความสามารถพอเรียนต่อในระดับปริญญาโท และเทรนนิ่งคนกลุ่มนี้ให้สามารถสอนภาษาญี่ปุ่น ขณะที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาทำเพียงยกเว้นค่าเล่าเรียนและออกค่าอาหารให้ นับเป็นโครงการเผยแพร่วัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จมากมีมหาวิทยาลัยสหรัฐอเมริกาตอบรับถึง 150 แห่ง
โครงการนี้เองทำให้มีสื่อมวลชนญี่ปุ่นหนังสือพิมพ์ "อาซาฮี ชิมบุน" มาสัมภาษณ์ และครั้งนั้นเขาได้เล่าเรื่องทุนดารุณีให้ฟังด้วย ซึ่ง "อาซาฮี ชิมบุน" เมื่อมีเรื่องลงหนังสือพิมพ์ ในปีนั้นเขาสามารถหาเงินทุนการศึกษาได้มากถึง 600 ทุน แต่ปรากฏว่าเมื่อติดต่อมาที่เมืองไทย ไม่มีใครสามารถหาเด็กมารับทุนให้ได้ จึงเป็นอีกครั้งที่ต้องกลับมาไทยด้วยตัวเอง
"ผมไปที่โรงเรียนที่ชั้น ป.6 ถามว่า ใครอยากเรียนต่อบ้าง ไม่มีใครยกมือ ไปถึง 3 โรงเรียนก็ไม่มีใครบอกว่าอยากเรียนต่อ เย็นนั้นจึงกลับไปที่หมู่บ้านและเริ่มต้นเล่าเรื่องข้าวสาร 100 กระสอบ และบอกว่า การเรียนชั้นประถมก็ช่วยพ่อแม่ได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเรียนจบมัธยมก็สามารถช่วยพ่อแม่ได้มากขึ้น และบอกด้วยว่า คนที่บริจาคเงินมาให้ 600 ทุน ก็เป็นคนธรรมดาที่อยากทำบุญ การที่นับถือพุทธศาสนาเหมือนกัน การรับทุนก็เป็นเหมือนการเชื่อมต่อกันทางศาสนา ปรากฏว่าเมื่อมีเด็กคนหนึ่งตะโกนออกมาว่าอยากเรียนหนังสือ เด็กคนอื่นๆ ที่เหลือก็บอกว่าอยากไปโรงเรียนเหมือนกัน"
และนั่นเป็นการจุดประกายที่ทำให้สามารถหาเด็กนักเรียนรับทุนการศึกษาได้สำเร็จ ในปีต่อมาเมื่อมีคอลัมนิสต์ที่มีอิทธิพลมากเขียนถึงเรื่องนี้อีกครั้ง ให้พื้นที่ข่าวเกือบเต็มหน้า หลังจากนั้นมีโทรศัพท์เข้ามามากจนไม่สามารถรับไหว เครื่องตอบรับที่ตั้งโปรแกรมตอบรับไว้พังภายในสัปดาห์เดียว มีจดหมายหลายพันหลายหมื่นฉบับที่ส่งเงินมาทะลักเต็มออฟฟิศ จนตัวเขาเองไม่สามารถรับไหวและนั่นทำให้ต้องมีการวางระบบการทำงานให้เป็นเรื่องเป็นราว และมีการตั้งคณะกรรมการจังหวัดในไทยเป็นผู้ช่วยในการคัดกรองผู้ที่เหมาะสมจะได้รับทุน
"ตั้งแต่เริ่มต้นผมเห็นผู้บริจาคมาตลอด ผู้บริจาคของเราไม่ใช่คนรวยเลย แต่เป็นคนธรรมดาๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยยากจน พอมีชีวิตที่ดีขึ้นก็อยากจะช่วยคนที่ลำบากในเรื่องการศึกษา"
และสิ่งที่มูลนิธิทำให้คนสามารถเชื่อมั่นได้มากขึ้นเพราะการควบคุมคุณภาพและความโปร่งใสในการทำงาน ในแต่ละปีจะมี study tour ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริจาคได้มีโอกาสลงพื้นที่ถึง 4-5 ครั้งต่อปี เพื่อมาดูว่าเงินที่บริจาคมาไปถึงเด็กที่ด้อยโอกาสจริง แม้ในไทย EDF จะไม่ได้โด่งดังและเป็นที่รู้จัก แต่ด้วยกลยุทธ์และมาร์เก็ตติ้งแบบปากต่อปาก ทำให้สามารถรักษาฐานผู้บริจาคได้อย่างต่อเนื่อง นับเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่นำกลยุทธ์และโมเดลธุรกิจมาใช้ในการบริหารจัดการได้อย่างแยบยล (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ)
"ตอนนี้เรามีสำนักงานที่ไทย ลาว กัมพูชา โตเกียวและมีพันธมิตรที่อัฟกานิสถาน รวมเรียกว่า "ดารุณีกรุ๊ป" ในอนาคตก็หวังว่า EDF จะกลายมาเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระดับโลกเช่นเดียวกับองค์กรในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป"
20 ปีที่ผ่านมาไม่เพียงชีวิตของเขาที่เปลี่ยน แปลงไปอย่างสิ้นเชิง แต่มีความเปลี่ยน แปลงต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย
"ทุกวันนี้ไทยแทบไม่ได้เป็นประเทศผู้รับอีกต่อไปแล้ว แต่กำลังเป็นประเทศที่ต้องไปช่วยเหลือประเทศอื่น เมื่อก่อนเราไม่เคยคิดว่าจะต้องมาระดมทุนที่ไทย แต่ตอนนี้ไทยกำลังต้องเปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ยังลำบากกว่า"
"ผมอยากให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเข้ามาร่วมกับองค์กรมากๆ เมื่อถึงวันหนึ่งเราจะสามารถส่งคนของเราไปทำงานพัฒนาที่เคนยาได้ ทุกวันนี้มีแต่องค์กรในยุโรปและสหรัฐที่ส่งคนเข้าไปทำ แต่การที่องค์กรจากประเทศพวกนี้เข้าไป คนรับก็จะแบมือขอเงินอย่างเดียว เพราะเคยเป็นประเทศที่ล่าอาณานิคมและปกครองอยู่แล้ว แต่การที่องค์กรไทยจะเข้าไป จะให้อารมณ์และความรู้สึกที่แตกต่างกัน เพราะจะทำให้เขาคิดว่าไทยเองก็เคยเป็นเช่นเดียวกับเคนยาในอดีต เมื่อไทยทำได้ เคนยาก็ทำได้ และหวังว่าองค์กรจากไทยจะมีโอกาสไปช่วยเหลือได้ทั่วโลก"
เขาย้ำว่า สิ่งที่พูดอาจเป็นเหมือนความฝันที่มันเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับที่ไทยจะกลายเป็นผู้ให้ ซึ่งตอนนั้นเหมือนเป็นไปไม่ได้ แต่ตอนนี้เป็นไปได้และนี่เป็นความสุขหนึ่ง
เป็นความสุขหนึ่งตลอดระยะเวลาในการทำงานพัฒนามาตลอดเกือบ 20 ปี เป็น "ดีเอ็นเอแห่งการให้" ของเขา
จนถึงวันนี้ ในที่สุดแม้ว่าเขาจะยังมีแผนในอนาคตอีกมาก แต่ในความรู้สึกเขาเชื่อว่า "วันนี้เขาได้คืนเงิน 10 บาทนั้น ให้กับคนไทยแล้ว" !!
หน้า 41
ประทับใจจริงๆ very inspiring :)
นั่นสิ ได้รับรู้เรื่องราวดีๆ แบบนี้แล้วอิ่มใจจังเลยนิ :)
อ่านแล้ววรู้สึกมีพลังชีวิตเพิ่มเลยค่ะ :)
เย้ๆ ดีจังค่ะ ช่วย uplift ข้างในเราได้เนอะ :)
Post a Comment
<< Home