There are no coincidences in the universe.

Solitary Animal: A Bridge to North Sikkim

Saturday, June 10, 2006

A Bridge to North Sikkim

















ห่างจากเมืองกังต๊อก (Gangtok) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นสิกขิมมาประมาณ 20 ก.ม. เราได้มาถึงสะพานใหญ่แห่งนี้ ข้างหน้ามีป้ายสีเหลืองขนาดใหญ่เขียนว่า Welcome to North Sikkim

6 Comments:

Blogger solitary animal said...

เข้าวันนี้ (10 มิ.ย.49) ได้อ่านแทบลอยด์ของกรุงเทพธุรกิจ ซึ่งมีบทสัมภาษณ์ของอดีตอธิบดีกรมศิลปากร ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ อ่านแล้วชอบมากๆ เค้าจั่วหัวเรื่องว่า 'รักในหลวงด้วยความรู้'

ยังนั่งอ่านให้พ่อฟัง พ่อชอบใหญ่เลย :)

Saturday, June 10, 2006 7:37:00 PM  
Blogger solitary animal said...

ขออนุญาตคัดมาจากเวป www.bangkokbiznews.com ให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน

คอลัมน์ I think


'รักในหลวงด้วยความรู้'


ห้วงเวลาที่พสกนิกรชาวไทยร่วมกันเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมๆ กับกระแสคำขวัญ 'เรารักในหลวง' นั้น อาจเป็นโอกาสดีที่แต่ละฝ่ายได้ทบทวนว่าจะแสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระประมุขบนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจได้อย่างไร ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร มีข้อคิดที่น่ารับฟัง


...สังคมไทยเป็นเมืองน้ำ ต้องมีชีวิตอยู่กับน้ำ เราจะเอาชนะธรรมชาตินั้นน่ะไม่มีทาง กรุงเทพมหานครอยากจะเป็นเมืองบกก็ต้องทำเขื่อนรอบแม่น้ำเจ้าพระยาเสียสูงเชียว กันน้ำล้น จังหวัดอื่นๆ ท่วมไป ห้ามท่วมกรุงเทพฯ กทม.ก็ขอแต่ให้มีการก่อสร้าง การสร้างเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาไม่มีประเทศไหนในโลกเขาทำ เหมือนสร้างกำแพงเบอร์ลินรอบแม่น้ำ...

เรื่อง : ยุวดี มณีกุล



น้ำเสียงทุ้มกังวานของมัคคุเทศก์อาสาสมัครนาม ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ ผู้ได้รับยกย่องเป็นบุคคลดีเด่นของชาติด้านอนุรักษ์มรดกไทย จากสำนักงานเอกลักษณ์แห่งชาติ ดึงดูดความใฝ่รู้ของเหล่านักเดินทางกลุ่มย่อยๆ ได้ชะงัดนัก กลุ่มนักเที่ยวนี้มีตั้งแต่เยาวชน ปัญญาชนทั่วไป ไปจนถึงพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์

ในวัย 72 ปี ที่ผู้ร่วมวัยหลายคนต่างพักตัวเองจากภารกิจการงาน ดูเหมือนว่า ดร.สุวิชญ์ ยังแน่วแน่ที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ด้วยการชวนใครต่อใครเดินทางไปสัมผัสวิถีชีวิตชนบทของไทย โดยเฉพาะการเดินลัดเลาะชุมชนเก่าแก่ เยี่ยมชมตลาดเก่าริมน้ำ การชื่นชมอาคารโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ หรือการล่องแม่น้ำลำคลองเพื่อเรียนรู้วิถีของคนเมืองน้ำอันเป็นพื้นฐานสังคมไทยแต่เดิม

การเรียนรู้นี้ส่งผลให้นักเดินทางเกิดความรักและตระหนักใน 'คุณค่า' ของมรดกวัฒนธรรมทั้งหลาย

แรงบันดาลใจในภารกิจหลังเกษียณของผู้ทรงคุณวุฒิท่านนี้ล้วนมาจากความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งมีโอกาสทำงานสนองพระราชดำริ ในฐานะข้าราชการกรมศิลปากร

*ได้ยินคำร่ำลือว่าอาจารย์เป็นไกด์นำเที่ยวที่ลูกทัวร์ชอบมาก?

(ยิ้ม) อาจจะเป็นอย่างนั้นนะครับ เมื่อเร็วๆ นี้ผมเพิ่งนำเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปดูตึกโบราณอย่างตึกมหาราษฎร์ ตึกราชินี ที่ศรีราชา พระองค์ท่านเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ ผมทำหน้าที่ถวายคำบรรยาย นี่ก็ได้กราบบังคมทูลเสด็จฯ ทางคลองหลายครั้ง พระองค์ท่านบอกอยากไปแต่เวลาไม่ค่อยมี

เดี๋ยวนี้ชีวิตริมคลองตายไปทุกวัน ชุมชนที่ผมนำชม ตลาดริมน้ำนี่ต้องรีบไปเพราะนับวันมันจะหมด สักวันหนึ่งตลาดพวกนี้จะถูกไฟไหม้ ฝีมือพวกที่คิดแต่จะพัฒนาเนี่ยล่ะ เขาคิดว่าวิธีที่จะจัดการกับตลาดเก่าได้เร็วที่สุดคือทำให้ไฟไหม้ซะ ผมไปตลาดไหนก็จะคอยเตือนชาวบ้านให้ระวัง

*อย่างตลาดสามชุกที่สุพรรณบุรีก็กำลังมีปัญหากับเจ้าของที่คือกรมธนารักษ์?

ครับ ชาวบ้านเขาอยากอนุรักษ์ไว้ แต่กรมธนารักษ์อยากพัฒนา อยากรื้อ ผมก็พยายามไปช่วยวิ่งเต้นให้รางวัลอนุรักษ์ต่างๆ เพื่อให้เห็นคุณค่าของตลาดเก่า พยายามเน้นศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การกินอยู่ของชาวบ้านริมน้ำเป็นยังไง ที่ตลาดบ้านใหม่ที่ฉะเชิงเทราก็ทำดี ตลาดเก้าห้องที่สุพรรณบุรีก็ทำดี

*กรมธนารักษ์บอกว่าจำเป็นต้องทำตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ 'แปลงสินทรัพย์เป็นทุน'?

นั่นน่ะสิ ผมเข้าใจเจ้าหน้าที่ คือถ้าเขาทำรายได้ไม่ได้ตามเป้าอาจถูกย้ายหรือไม่ได้เงินเดือนขึ้น เพราะที่ผ่านมาค่าเช่ามันถูก ก็พยายามรื้อมาทำตึกใหม่เพื่อเก็บค่าเช่าแพงๆ นี่คือการหาเงิน เมื่อรัฐบาลมองแต่เงิน ไม่ได้มองทางด้านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ต่อไปประเทศมีเงินมากก็แห้งแล้งเพราะรากฐานชีวิตหมด ประเทศไทยมีสิ่งมีค่าคือแม่น้ำลำคลอง ปรากฏว่าเราจะทำเมืองน้ำให้เป็นเมืองบก พยายามทำถนน ถมแม่น้ำลำคลองทิ้ง สร้างตึก สร้างถนน ไม่เอาเรือ ไม่เอาแม่น้ำ

*ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสแนะนำการทำงานต่อกรมศิลปากร?

ใช่ ท่านเคยรับสั่งกับทางกรมศิลปากร เป็นพระราชดำรัสที่มีค่ามาก ประมาณปี 2500 ตอนนั้นผมยังเป็นข้าราชการชั้นตรี ท่านตรัสกับอธิบดีธนิต อยู่โพธิ์ ที่อยุธยาว่าอิฐแผ่นเดียวมีค่ามหาศาล ถ้าเราไม่มีสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ เราก็ไม่มีประเทศไทย นี่เป็นพระราชดำรัสที่เป็นอมตะของกรมศิลปากรถึงปัจจุบัน

*เป็นแนวทางการทำงานมาตลอดชีวิตราชการ?

ครับ ข้าราชการจะทำอะไรก็ต้องคิด เราต้องรักษาคุณค่าของอดีต ถ้าไปทำลายแล้วก็หมดเลย ทำใหม่ไม่ได้ สมัยนี้รัฐบาลดูแต่ค่า GDP ดูความเจริญเติบโตของตัวเลขทางเศรษฐกิจ GDP สูงถือว่าประเทศเจริญ ไม่เคยมีใครคิดว่า GDP สูงนี่มันได้ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายโบราณสถานไปเท่าไหร่ ไม่มีใครคิด

ผมบอกได้เลยว่าความเจริญของประเทศถ้าดูแต่ตัวเลขเศรษฐกิจ ไม่ได้ดูทางศิลปวัฒนธรรมหรือสิ่งแวดล้อมมันจะเป็นการทำลายอย่างรุนแรง

เห็นได้ว่าปี 2540 ที่เกิดฟองสบู่แตกนั่นน่ะ เป็นจุดที่การทำลายโบราณสถาน ทำลายวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมชะลอไป พอเริ่มเจริญใหม่ก็เกิดการทำลายใหม่ ตัดถนน ถมคลอง ไปดูนนทบุรีสิ ถนนตัดไป สะพานตัดไป บ้านจัดสรรเข้าเต็ม น้ำเน่าก็เต็มสวนหมด ดินตรงนั้นมันหาไม่ได้แล้ว มันเป็นดินเฉพาะเหมาะกับการทำสวน ปลูกผลไม้ให้รสอร่อย แต่เราเอาดินที่เหมาะกับการทำสวนมาทำบ้านจัดสรร แล้วเอาดินแถวปราจีนบุรีไปทำสวนทั้งที่มันเป็นดินลูกรัง อันนั้นเหมาะทำบ้านจัดสรรมากกว่า

พูดง่ายๆ ว่าย้ายสลัมในเมืองไปอยู่ในสวนเก่า ผมเคยพูดเรื่องนี้กับนักพัฒนาที่ดิน เขาบอกว่าไม่ดีเหรอย้ายสลัมไปอยู่นอกเมือง เขามองแต่เงิน ไม่ได้มองผลระยะยาว สิ่งที่มีค่าอย่างดินที่อุดมสมบูรณ์นี่หาไม่ได้

*ผลกระทบของการขยายเมืองอย่างรวดเร็วที่เห็นชัดๆ มีอะไรบ้างคะ?

พอมีบ้านจัดสรรก็เกิดน้ำเน่ามหาศาลน่ะสิ ตามกฎหมายต้องให้มีบ่อบำบัด ปรากฏว่าเขาไม่บำบัด เขาบอกว่ายอมเสียค่าปรับเพราะถูกกว่าค่าไฟที่ใช้ในบ่อ พอมีน้ำเสียก็ทิ้งลงแม่น้ำลำคลอง น้ำมันก็เน่า พอคลองเน่าไม่รู้ทำยังไงก็ถมคลองไปเลย คลองก็หมด สมัยก่อนกรุงเทพฯ กับธนบุรีมีคลองทั้งหมด 2,200 ลำคลอง เดี๋ยวนี้ถมไปเกือบหมดเหลือแค่ 200 ลำคลอง พอถมหมดน้ำก็ท่วมสิ

สมัยก่อนน้ำท่วมเพราะคลองตื้นเขิน เดี๋ยวนี้ไปถมคลอง น้ำมาไม่มีคลองให้ไหลให้ระบายก็ไหลบนดิน ผมล่ะสมน้ำหน้าไอ้พวกทำลายตัวเอง ไม่ได้คิดว่าการถมคลองจะทำให้เกิดปัญหา ไม่ได้คิดถึงระบบการระบายน้ำแต่ดั้งเดิม คิดกันแค่ว่าน้ำอีก 10 ปี 20 ปีจะมาหน คิดระยะสั้นไง

อย่าลืมว่าสังคมไทยเป็นเมืองน้ำ ต้องมีชีวิตอยู่กับน้ำ เราจะเอาชนะธรรมชาตินั้นน่ะไม่มีทาง กรุงเทพมหานครอยากจะเป็นเมืองบกก็ต้องทำเขื่อนรอบแม่น้ำเจ้าพระยาเสียสูงเชียว กันน้ำล้น จังหวัดอื่นๆ ท่วมไป ห้ามท่วมกรุงเทพฯ กทม.ก็ขอแต่ให้มีการก่อสร้าง การสร้างเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาไม่มีประเทศไหนในโลกเขาทำ เหมือนสร้างกำแพงเบอร์ลินรอบแม่น้ำ

*กรณีพิบัติภัยที่อุตรดิตถ์ล่ะคะ?

น้ำที่อุตรดิตถ์ไหลจากภูเขามาลงแม่น้ำไม่ได้เพราะติดเขื่อน ทุกเขื่อนมีประตูน้ำ แต่สร้างมาไม่เคยเปิด ปิดตายถาวร มันถึงท่วม แล้วเจอปัญหาตัดป่ากันอีก ทุกวันนี้ที่เกิดวิกฤติธรรมชาติลงโทษเนี่ย มนุษย์เลวเองแหละ เดี๋ยวก็ต้องเกิดแบบนี้อีก เพราะพวกเราทำผิดมาตลอด ธรรมชาติจะลงโทษทุกปี เราทำฝืนธรรมชาติ จะเอาชนะธรรมชาติ

เวลาสอนหนังสือเขาไม่เคยสอนเรื่องพวกนี้ สอนอย่างเดียวทำยังไงถึงจะได้เงิน ผมว่าขณะนี้ประเทศไทยเริ่มจะเป็นมะเร็ง ต่อไปเมืองทั้งเมืองจะหมด จะหมดช้าหรือเร็วแค่นั้นเอง

*อาจารย์เคยถวายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตรงมั้ยคะ

เยอะเลย ท่านรับสั่งมากมายเกี่ยวกับการบูรณะโบราณสถาน ผมเป็นหัวหน้าโครงการซ่อมแซมพระบรมราชวัง วัดพระแก้ว พระธาตุต่างๆ พระองค์ท่านก็รับสั่งกับผมว่าให้เขียนไว้นะ วิธียกเจดีย์ทำยังไง บูรณะยังไง เผอิญผมเขียนไม่เป็นเลยไม่ได้เขียน ทุกครั้งท่านจะทรงสอนผม เช่น ที่เขาชีจันทร์ ชลบุรี พระองค์ท่านแนะนำว่าต้องทำอย่างนี้ๆ ทรงบอกต้องทำบ่อน้ำ อ่างน้ำ ไม่อยากให้คนอยู่ใกล้ภูเขา เพราะเขายังหลุดยังแตกตลอดเวลา เดี๋ยวถล่มลงมาก็อันตราย

ท่านทรงคิดละเอียด รับสั่งเรื่องกันน้ำท่วม วันที่ท่านไปทอดกฐินที่วัดโพธิ์ ปี 2534 ตอนนั้นผมเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ท่านรับสั่งประมาณครึ่งชั่วโมงตรงโบสถ์พระวิหารพระนอน แต่ไม่ได้ตรัสเรื่องพระนอนหรอกนะ ทรงคุยเรื่องน้ำท่วม ทำไมน้ำท่วมแถวหมู่บ้านเสรี เป็นเพราะอะไร เพราะมันเป็นแอ่ง ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านน้ำ ท่านดูโฟโตกราฟฟีของกรุงเทพฯ ตรงไหนสูงตรงไหนต่ำ แม่น้ำลำคลองไหลรอบกรุงเทพฯ ยังไง ท่านหลับพระเนตรเห็นหมดเลย น้ำจะมาตรงไหนต้องแก้ยังไง แต่เราไม่เคยฟัง

อย่างหนองงูเห่านี่ต้องปรับแก้กันอีกเยอะ เพราะมันเป็นหนอง พอทำสนามบินมันก็กักน้ำ น้ำไม่มีที่ไปก็ท่วม ยิ่งก่อสร้างมากเท่าไหร่ก็ยิ่งท่วม พระองค์ท่านก็ทรงแนะนำว่าต้องทำยังไง แต่คนฟังไม่ได้สนใจ คงคิดว่าไม่เป็นไร ชอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตอนที่มันเกิดปัญหานี่แหละคนไทย

*คนสมัยก่อนเขาอยู่กับน้ำได้?

ใช่ ชาวบ้านที่อุตรดิตถ์ก็บอกว่าน้ำมันท่วมทุกปี แม่น้ำยมเนี่ยแหละ ปีหนึ่งประมาณ 15 วัน เขาอยู่ได้ จะมาทำเขื่อนล้อมเขาไม่เอาหรอก แต่การแก้ปัญหาของรัฐคือต้องทำเขื่อน พื้นที่ตรงนั้นเป็นที่ลุ่ม สมัยก่อนการปลูกบ้านจะทำพื้นสูง พอน้ำมาก็ย้ายไปอยู่ข้างบน

เดี๋ยวนี้ตลาดสองน้ำมันหมดไปแล้ว เช่นที่ตลาดบางลี่ อำเภอสองพี่น้อง ก็ไฟไหม้หมดไปแล้ว ตลาดบางลี่เป็นตลาดสองน้ำ คือถ้าไม่มีน้ำเขาจะใช้ชั้นล่างชั้นบน พอหน้าน้ำมาก็ใช้ชั้นบน ชั้นล่างปล่อยให้ท่วม ข้างบนมีสะพานถึงกันหมด ไม่ก็พายเรือไปไหนต่อไหน หน้าน้ำประชาชนมีความสุข พายเรือจากบ้านมาตลาดเลย มีเพลงเห่เรือ ร้องรำทำเพลง เกี่ยวข้าว เขาถือว่าน้ำมาก็นำปุ๋ยมา ต้นไม้ก็เติบโตดี

ช่วงนี้แหละที่มีคำว่า 'ข้าวใหม่ปลามัน' คำนี้หมายถึงเวลาน้ำท่วม ข้าวจะออกรวงหนีน้ำ ปลาที่มีเยอะในน้ำก็กินใบข้าว เนื้อปลาจะมัน เลยเรียกว่าหน้าข้าวใหม่ปลามัน แต่คนไทยแปลว่าฮันนีมูนไปคนละเรื่อง ที่จริงมันเป็นช่วงที่น้ำท่วมต่างหาก เนี่ยสิ่งที่มีค่าในอดีตพวกนี้กำลังจะหมดไป

*ทุกวันนี้อาจารย์มีงานเยอะยิ่งกว่าตอนรับราชการเสียอีก?

ผมเกษียณมา 10 กว่าปีแล้ว เกรงว่าไอ้สิ่งที่เราเคยเห็นเคยรู้มันจะหมดไป เลยอาสาเป็นมัคคุเทศก์ สตางค์จะได้หรือไม่ได้ไม่สำคัญหรอก พานักศึกษา นักวิชาการไปเที่ยว วัดนี้สวยอย่างนี้ คลองสวยอย่างนี้ ตลาดเก่าเป็นยังไง ชาวบ้านเขากินอยู่ยังไง ที่ประทับใจมากคือมีโอกาสนำสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทางเรือจากกรุงเทพฯ ไปปากเกร็ด ครั้งที่สองนำเสด็จฯ จากกรุงเทพฯ ไปป้อมพระจุลจอมเกล้า สมุทรปราการ ครั้งที่สามเข้าคลองดาวคะนอง คลองด่าน คลองชักพระ คลองบางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ผมกราบบังคมทูลว่าพระองค์ต้องเสด็จฯ เร็วๆ เพราะต่อไปเขาจะทำประตูน้ำปิด เราจะไปไม่ได้แล้ว ขนาดที่ตอนท่านเสด็จฯ ได้ประสานไปทางจุดต่างๆ แล้วนะ ยังติดตรงประตูน้ำเป็นชั่วโมงกว่าเขาจะเปิด

ต่อไปถ้าทำประตูน้ำทุกคลอง คลองนั้นก็จะเน่าเพราะเรือแล่นไม่ได้ คนปิดเปิดประตูน้ำไม่อยู่ จะให้มาเปิดต้องไปตามมาเป็นวันๆ เขาบอกต้องป้องกันน้ำท่วมอย่างเดียว แต่น้ำจะเน่าเขาไม่พูดถึง

ผมนำชมทุกอาทิตย์ล่ะครับ ยังมีงานกรรมการอีกเยอะไปหมด กรรมการสิ่งแวดล้อม กรรมการการท่องเที่ยว กรรมการอนุรักษ์โบราณสถาน เป็นพี่เลี้ยงกระทรวงวัฒนธรรม นี่เป็นตัวอย่างนะ ยังไม่หมด(หัวเราะ) เอาอย่างนี้ดีกว่าก่อนเกษียณยังพอมีเวลาวันหยุดตีกอล์ฟได้ เดี๋ยวนี้ตีไม่ได้ ประชุมทุกวันเลย(หัวเราะ)

บางครั้งยอมรับว่าไม่ไหวที่จะต้องออกเดินทางไปค้างคืน อายุก็ 72 แล้วนะ ร่างกายเริ่มงอกแงกๆ เมื่อก่อนความจำดีมาก ตอนนี้เดี๋ยวแวบเข้ามาเดี๋ยวแวบลืม (หัวเราะ)

*สอนหนังสือด้วยนะคะ?

เขาให้ไปสอนปริญญาเอกคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เดี๋ยวนี้ผมจะไม่เตรียมการสอนแล้วล่ะ บอกเลยว่าให้นักเรียนถาม ผมจะตอบจากประสบการณ์ คือบางทีสิ่งที่เตรียมสอนอาจเป็นสิ่งที่เขารู้แล้ว เขาต้องการฟังประสบการณ์จริงมากกว่า เจอปัญหาอะไรแก้ปัญหายังไง ปรากฏว่าอาจารย์มาฟังมากกว่านักเรียนซะอีก ผมสอน 10 เที่ยว ไม่เหมือนกันสักเที่ยวเพราะผมถ่ายทอดตามที่คนถาม

*วาระครบ 60 ปีการครองสิริราชสมบัติ อาจารย์ได้มีส่วนร่วมบ้างมั้ยคะ

ผมแนะนำให้กรมศิลปากรทำหนังสือ 60 ปี ครองราชย์ บันทึกสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้กรมศิลปากรทำ สิ่งสำคัญคือพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสกับอธิบดีคนไหน เรื่องอะไร ให้อธิบดีคนนั้นเรียบเรียงมา แบบนี้จะไม่มีหนังสือเล่มไหนทำเหมือน เพราะพระองค์ท่านจะรับสั่งกับอธิบดีแต่ละคนเป็นเรื่องๆ ไม่เหมือนกัน

ตอนนี้ถ้าได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมกลัวอยู่อย่างเดียวว่าพระองค์ท่านจะทรงทวงถามว่าผมเขียนหรือยัง แหม...ยังไม่ได้เขียนเลย (ยิ้ม) แต่ถ่ายทอดให้คนอื่นๆ ตลอดเวลานะ แล้วคนอื่นไปเขียนต่อ

(ยังมีต่อ)

Saturday, June 10, 2006 7:44:00 PM  
Blogger solitary animal said...

มาถึงคำถามสุดท้าย ไฮไลท์-

*อาจารย์คิดว่าคนไทยควรทำอะไรเพื่อแสดงความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากสวมเสื้อสีเหลือง หรือติดคำขวัญ 'เรารักในหลวง'

น่าจะลงมือทำตามแนวพระราชดำรินะครับ ส่วนใหญ่คนคิดว่าทำอะไรที่หาเงินถวายในหลวงมันจะดี แต่เราน่าจะทำสิ่งที่คิดถึงคุณภาพชีวิต มีความเจริญแบบพอเพียง ไม่ใช่เอาเงินไปถวาย สร้างไอ้โน่นไอ้นี่ถวาย

ผมไม่ได้ว่าใครนะ บางคนคิดไม่ออกว่าจะทำอะไรดี ก็คิดบ้าๆ บอๆ บางคนสร้างพระองค์เบ้อเร่อเลยบอกถวายในหลวง บางทีแบบพระออกมาน่าเกลียด ถ้าทำสิ่งที่มันน่าเกลียดเยอะๆ คือขอให้มีชื่อว่ากูได้ทำ ต่อไปถ้าฉลองอะไรอีกก็จะมีสิ่งก่อสร้างแบบที่เรียกว่าทัศนอุจาดเต็มเมือง บางโครงการเขาอยากสร้างส้วมถวายเป็นพระราชกุศล ผมด่าเตลิดเปิดเปิงเลย

ฝากไว้ด้วยว่าการคิดทำอะไรต้องลึกซึ้งต้องเข้าใจ อย่าไปทำสิ่งที่จะไปลดพระเกียรติของพระองค์ท่าน มีเยอะเลยนะที่ผมเห็น

เดี๋ยวนี้ผมอายุมากแล้วพอไปเห็นความทุเรศต่างๆ บางทีก็ต้องกินยาทัมใจ (หัวเราะ) บอกตัวเองว่าอีกไม่กี่ปีกูก็ตายแล้ว (หัวเราะ)


:D

Saturday, June 10, 2006 7:46:00 PM  
Blogger solitary animal said...

และที่สอดคล้องเหลือเกินกับบทสัมภาษณ์นี้ คือบทบรรณาธิการของคุณชุติมา ซุ้นเจริญ...เป็นมุมมองที่ 'คม' ดีเหลือเกิน


คัดมา :-

ดิฉันเป็นพุทธศาสนิกชนคนหนึ่งที่ไม่นิยมห้อยพระ แต่ทุกครั้งที่เกิดอาการกลัว 'ผี' สัญชาตญาณก็จะบอกทันทีว่าต้องหา 'พระ' ไว้คุ้มครอง

คนไทยทั่วๆ ไปก็คงคุ้นเคยกับ 'พระพุทธรูป' ซึ่งเป็นรูปธรรมของศรัทธาในพระศาสนา และได้ใช้ 'สัญลักษณ์' นี้ในการประกอบพิธีกรรม หรือแสดงออกกันตามอัธยาศัย ทั้งที่บางทีความเข้าใจต่อพระธรรมคำสั่งสอนนั้นจะอาจเพียงผิวเผิน หรือไม่มีเลย

คงมีคำอธิบายสักสองสามชุดที่ให้เหตุผลได้ว่า ทำไม 'สัญลักษณ์' จึงถูกให้ความสำคัญเหนือกว่าแก่นแกน และหนึ่งในคำอธิบายนั้น ดิฉันว่าต้องมีเรื่องรูปธรรม-นามธรรม

แต่ไม่ว่าจะอธิบายในมุมไหน เชื่อได้เลยว่า ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคที่ใช้จ่ายทั้ง 'เงิน' และ 'เวลา' เพื่อบริโภคสัญญะ หรือ สัญลักษณ์นิยม (Symbolism) อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

เดินไปตามถนน หรือมองคนรอบๆ ตัว ไม่ใช่เรื่องยากที่หาคนอินเทรนด์สวมสายรัดข้อมือเรียงกันจนถึงข้อศอกเพื่อแสดง 'ตัวตน' หรือสวมเสื้อทีมฟุตบอลที่สามารถเปลี่ยนสถานะการเป็นประชากรของประเทศกำลังพัฒนาให้กลายเป็นคนร่วมสมัยในสังคมโลกได้ราวปาฏิหาริย์

และนั่นรวมไปถึงการที่เจตนาในการถวายความจงรักภักดี กลายเป็นโอกาสในการค้ากำไรเกินควร ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นด้วย

พูดอย่างนี้...อย่างเพิ่งกล่าวหาว่าดิฉันดูหมิ่นดูแคลนแต่ประการใด

ใครจะใช้สัญลักษณ์ชนิดใด เพื่อสื่อความหมายความรู้สึกที่มีต่อความรักความผูกพันต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมเป็นสิทธิที่คนอื่นไม่ควรก้าวล่วง ยิ่งถ้าสัญลักษณ์นั้นคือที่รวมของศรัทธา เป็นด้านละเอียดอ่อนที่มนุษย์ไม่ควรสูญเสีย

แต่ที่ดิฉันไม่แน่ใจก็คือ สัญลักษณ์สารพัดชนิดที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ คือตัวแทนความรู้สึก รัก ผูกพัน ซาบซึ้ง กระทั่ง ...ศรัทธา ...จริงหรือ

หรือเรามัวแต่บริโภคสัญญะ จนลืมบริโภค 'คุณค่า' อันเป็นเนื้อแท้...

ฟุตบอลโลกทำกำไรให้กับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมหาศาล ประเทศไทยซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดครบทุกนัด แต่วงการฟุตบอลของเรา ยังคงพัฒนาในลักษณะ เดินหน้าหนึ่งก้าว ถอยหลังสองก้าว ก่อนจะเดินหน้าอีกหนึ่งก้าว ไม่ต้องพูดถึงโอกาสการไปสู่การแข่งขันฟุตบอลโลก ซึ่งแม้จะมีความเป็นไปได้ แต่การทำให้กีฬาชนิดนี้ สอนความเป็นนักกีฬา และเป็นหนทางสู่การพัฒนาตนเองของเยาวชน ...ยังห่างไกล

หลายๆ อย่างก็เป็นอย่างนี้ เหมือนกับที่ประกาศกันปาวๆ ว่า 'รักในหลวง' แต่มีคนไทยสักกี่คนยึดคุณงามความดีของพระองค์เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต หรือแม้แต่ฟัง...แล้วไตร่ตรอง

หรือว่า เดี๋ยวนี้เรารู้จัก 'รัก' แค่ในเชิงสัญลักษณ์...

-ชุติมา ซุ้นเจริญ

Saturday, June 10, 2006 7:53:00 PM  
Anonymous Anonymous said...

I love your website. It has a lot of great pictures and is very informative.
»

Thursday, July 20, 2006 1:39:00 AM  
Anonymous Anonymous said...

Here are some links that I believe will be interestedhttp://neveo.info/789.html or http://indexmachine.info/1759.html and http://google-machine.info/1068.html

Monday, July 24, 2006 9:23:00 AM  

Post a Comment

<< Home

Gabu on Facebook